xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนปักธงปี 66 ต่อยอด "BCG" โมเดล เร่งขับเคลื่อน ศก.ไทยสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นความสำเร็จอย่างสวยงามสำหรับการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นเวทีที่จัดคู่ขนานกับการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปี 2565 ซึ่งผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันลงนามรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 และ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบ "ชะลอม" ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์เพื่อส่งต่อให้สหรัฐฯ สานต่อภารกิจปี 2566 ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุมยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบต่อไป

อย่างไรก็ตาม BCG โมเดลถือเป็นวาระแห่งชาติปี 2564-69 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ดังนั้นปี 2566 จะมีความเข้มข้นมากขึ้นและเชื่อมโยงไปกับบริบทของโลกที่ยังคงเผชิญกับผลกระทบต่อเนื่องจากไวรัสโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน BCG โมเดลคือรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต่อยอดจุดแข็งของไทยจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในการพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจที่จะก้าวไปสู่ "ความยั่งยืน" ที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญกว่า ….ถนนทุกสายจึงมุ่งไปสู่ความยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง


BOI กับยุทธศาสตร์ใหม่ดันไทยสู่ฮับ BCG

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า ปี 2566 บีโอไอจะดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบซึ่งจะมี 9 มาตรการสำคัญ คือ 1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิต 4. มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร 5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ 6. มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่สมาร์ทและยั่งยืน 7. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเอสเอ็มอี 8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และ 9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ม.ค. 66

ทั้งนี้อจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์บีโอไอจึงมองเห็นโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) อย่างน้อยใน 5 ด้าน ได้แก่

1. Tech Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านดิจิทัล ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ และอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 2. BCG Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น 3. Talent Hub เป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เช่น ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทักษะสูง ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย กลุ่มสตาร์ทอัพ ไปจนถึงนักลงทุนและผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง เป็นต้น

4. Logistics & Business Hub เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ 5. Creative Hub เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกมและอีสปอร์ต โดยใช้ศักยภาพด้านวัฒนธรรมของไทย ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่เวทีโลก

กนอ.ชูกำกับดูแลมุ่งความยั่งยืนดึงลงทุน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ กนอ.ในปี 2566 จะมุ่งเน้นการกำกับดูแลนิคุมอุตสาหกรรมให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการตอบโจทย์ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green Economy) ของรัฐบาลเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงกับต่างประเทศ (FDI) เพราะหากกำกับดีย่อมนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงซึ่งจะตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาวได้มากกว่า

ทั้งนี้ แม้ว่าหลายฝ่ายมองว่าไทยมีหลายปัจจัยที่อาจไม่เอื้อต่อการลงทุนนักหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามที่ต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆ ดีกว่าไทย เช่น ค่าแรงงานต่ำกว่า ภาษีฯ ต่างๆ ต่ำกว่าไทย และบางอุตสาหกรรมที่เวียดนามต้องการส่งเสริมเป็นพิเศษยังมีการให้ใช้พื้นที่ฟรีระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันแต่ละจังหวัดยังแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนมีการลด แลก แจก แถม ประกอบกับประชากรเวียดนามมีมากกว่าไทย ขณะที่แรงงานของไทยเองเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ฯลฯ แต่ภาพเหล่านี้ต้องกำกับให้ดี กนอ.จึงมองประเด็นความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนว่า BCG เป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“เรื่องสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนทางบีโอไอก็ให้เต็มที่สำหรับกิจการที่ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม กนอ.ก็ร่วมกับบีโอไอและหน่วยงานรัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องในการโรดโชว์ แต่เหนืออื่นใดการลงทุนภาคการผลิตจะมองการลงทุนในระยะยาว สิ่งที่เราขับเคลื่อนดังกล่าวผมคิดว่ามันน่าจะยั่งยืนกว่าที่จะมามองเรื่องเม็ดเงินลงทุนอย่างเดียวแต่ต้องดูว่าการลงทุนนั้นได้ตอบโจทย์การพัฒนาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมใหม่ๆ หรือไม่ กนอ.เองก็จะปรับระเบียบให้ไปในทิศทางนี้” นายวีริศกล่าว

สนพ.ชู PDP 2022 ปูทางพลังงานเพื่อความยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2565-80 (PDP 2022) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 แผนย่อยในแผนพลังงานชาติที่มุ่งดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการค่าไฟฟ้าตลอดแผนไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วยเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศระยะยาวโดยเฉพาะการลงทุน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจกตามนโยบาย Net Zero Emission ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศ

แนวทางดังกล่าวเบื้องต้นจึงกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วนที่มากกว่า 50% ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด จากเดิมที่มีสัดส่วน 12-13% ก๊าซธรรมชาติ 30-40% ถ่านหิน 1-10% ซื้อไฟต่างประเทศราว 15% ฯลฯ โดยสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงระบบไฟฟ้ามากนักยังจำเป็นต้องมองแนวทางการพัฒนาแบตเตอรี่มาประกอบด้วยซึ่งขณะนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง

“แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงไม่ได้บรรจุเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ แผนใหม่นี้เราได้เปิด Option ไว้ให้เลือกเพราะมีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เป็น Small Modular Reactor หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ปลอดภัยสูงแต่จะมาตอบโจทย์ลดคาร์บอนฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงบลูไฮโดรเจนแต่ส่วนหนี้หลักๆ จะไปอยู่ในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งแผน PDP ฉบับใหม่คาดว่าจะเสนอกระทรวงพิจารณา ธ.ค.นี้ และคาดว่าแผนทั้งหมดจะประกาศใช้ไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2566” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ส.อ.ท.เปิดตัว SAI ปี 66 สู่ BCG in Action
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก 2022 (APEC Business Advisory Council-ABAC) กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดย ส.อ.ท.เองได้มุ่งที่จะต่อยอดการพัฒนาผ่านโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI เพื่อยกระดับภาคเกษตรของไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้

“ทั้งนี้ พืชเป้าหมายที่จะนำร่องในโครงการ SAI คือ เห็ดยามาบูชิตาเกะ ที่จะพัฒนาเป็น Plant-based ที่จะเปิดตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้นปี 66 ที่เรียกว่า SAI in the City อยู่ใจกลางเมืองพื้นที่ราว 1 ไร่เศษ จะเป็น One stop service หรือศูนย์บริการที่ครบวงจรทางด้านการเกษตรอัจฉริยะและอาหารแห่งอนาคตแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นเราก็จะกระจายไปสู่ 5 ภูมิภาคจังหวัดไหนพร้อมก็จะเดินหน้าทันทีตามแนวทาง 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ SAI เพื่อทำให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้การบริหารจัดการเกษตรสมัยใหม่ และการผลิตที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดและมองไปถึงการต่อยอดสู่คาร์บอนเครดิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรของไทย นี่คือเป้าหมายของเรา” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับเวทีเอเปกที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เราต้องมองการต่อยอดให้มากขึ้นคือ Solf Power จากวัฒนธรรมอาหารไทยที่ได้รับกระแสเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมุ่งเน้นการดูแลความสะอาดให้ถูกสุขอนามัย มีการบำบัดการทิ้งเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อให้ Solf Power ของไทยมีความยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งปรับบทบาทและกลยุทธ์เพื่อที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศมาสู่แผนปฏิบัติเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เศรษฐกิจไทยปี 2566 และระยะยาวต่อไปบนภูมิรัฐศาสตร์และภูมิอากาศที่แปรปรวน ความไม่แน่นอนยังมีสูง แต่เมื่อถึงเวลาฟ้าเปิด....เศรษฐกิจไทยจะทะยานจากการปูพื้นฐานความพร้อมไว้รองรับแล้วจากทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น