ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยมีประชากรจำนวนมากถึง 27 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้และการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยส่วนมากยังคงทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้น้อย ขาดความมั่นคงในชีวิต นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยในที่สุด
ในปัจจุบันองค์กรเอกชนหลายภาคส่วนได้ร่วมมือกันปฏิรูปภาคเกษตร โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทยด้วยการปรับโครงสร้างจากเกษตรแบบดั้งเดิมพัฒนาไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง โดยนำองค์ความรู้ การวิจัยพัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร และต่อยอดการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ตลอดจนยังจะเป็นการกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง อันจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
“กลุ่มมิตรผล” ผู้นำในอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC) ศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งและโดดเด่นให้กับกลุ่มธุรกิจภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่ Smart City รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอีสานให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของลุ่มน้ำโขงได้ในอนาคต
ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มมิตรผล และ KKIC ได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชนอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมเดินหน้าผลักดัน ‘อีสาน’ ให้เป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน ผ่านการร่วมจัดงาน “Isan BCG Expo 2022” ภายใต้แนวคิด Collaboration | “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Center จังหวัดขอนแก่น และบริเวณโดยรอบ เช่น ย่านศรีจันทร์, เทศบาลเมืองนครขอนแก่น, ศาลหลักเมือง, สถานีรถไฟขอนแก่น และถนนไก่ย่าง โดยจัดแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ผ่านโซนต่างๆ เช่น Creative, Innovative และ Green ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอีสาน ประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน และเทคโนโลยีสีเขียว เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ตลอดจนการท่องเที่ยวและเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 65 ปี เรามุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยพัฒนาการทำไร่อ้อยให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน สนับสนุนปัจจัยการผลิต พัฒนาวิธีการปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งมีการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล และสถาบันการเรียนรู้มิตรผลฯ เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี วิธีการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบสมัยใหม่ (Mitr Phol Modern Farm) อบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทายาทชาวไร่อ้อยให้เป็น Smart Farmer ตลอดจนสร้าง New S-Curve ให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป”
โดยในระดับชุมชนและครัวเรือน กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนผ่านตำบลมิตรผล ร่วมพัฒนา 21 ตำบล ใน 7 จังหวัด โดยมีกรอบเป้าหมายการทำงานที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่
1.การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมและปรับเปลี่ยนวิธีคิด นำไปสู่การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนการพัฒนาชุมชนจากจุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ผ่านการขับเคลื่อนของกลไกคณะกรรมการตำบล รวมถึงมีการจ้างงานผู้พิการในชุมชน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างคุณค่า ความเท่าเทียม และความภาคภูมิใจให้แก่ผู้พิการ
2.การพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชุมชนในหลายด้าน ทั้งการปลูกอยู่ปลูกกิน การแบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ลดการพึ่งพิงจากภายนอก มีอาหารที่ปลอดภัยบริโภค รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการผลิตพืชผักปลอดภัยขายอีกด้วย
3.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน ที่ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าบนพื้นฐานของความถนัด ความสามารถ และทรัพยากรของชุมชนที่มีอยู่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียน
ในชุมชนอย่างยั่งยืน
4.การพัฒนาด้านการศึกษา โดยเน้นหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Learning) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เน้นการลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินผ่านโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จำนวน 8 แห่ง ใน 6 จังหวัด และโครงการพัฒนาวิชาชีพอาชีวศึกษาทวิภาคี จำนวน 4 วิทยาลัย
โดยได้มีการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน เริ่มตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล 7 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการในการเรียนรู้และปฏิบัติแล้วกว่า 10,000 คน รวมไปจนถึงมีการส่งเสริมให้นำแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ อาทิ การสนับสนุนกลุ่มปลูกผัก ซึ่งมีสมาชิก 250 ครัวเรือน มีแหล่งปลูกผัก 19 แห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐานผักปลอดภัย (GAP) มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และอยู่ระหว่างพัฒนาสู่มาตรฐานผักอินทรีย์ (PGS)
อีกทั้งได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนโดยใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลอดจนพัฒนากระบวนการปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดการใช้แรงงานคน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้มีการจัดตั้งบริษัท ปลูกเพาะสุข จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีตลาดรับซื้อที่มั่นคง โดยมีการกระจายสินค้าทั้งช่องทางออนไลน์และซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำของไทย สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนนับล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ด้วยการสนับสนุนการนำเศษผ้าที่เหลือทิ้งมาเย็บขึ้นรูปใหม่เพื่อขายให้โรงงานใช้ทำความสะอาดเครื่องจักร ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากปัญหาขยะ ผ่านโครงการกล่องวิเศษ โดยนำกล่องนมมาแปรรูปเป็นหลังคา เพื่อลดปริมาณขยะในโรงเรียน สู่การพัฒนาโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
“การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่เพียงแต่จะใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม แต่จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชนเองที่เรียนรู้การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งกลุ่มมิตรผลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนตามหลักสากล รวมถึงเป็นองค์กรต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายวีระเจตน์กล่าวเสริม