xs
xsm
sm
md
lg

‘ส.อ.ท.’ หนุน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐกิจ BCG” ผลักดัน SAI สู่ BCG in Action

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จบไปอย่างสวยงามกับการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นเวทีที่จัดคู่ขนานกับการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ในปีนี้

การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC ได้เน้นย้ำในเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลังโควิด-19 ให้ครอบคลุมและยั่งยืน หนึ่งประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนไทยได้ผลักดันให้ผู้นำร่วมกันรับรอง ก็คือ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อให้เกิดการทำงานที่ชัดเจน นำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

BCG คืออะไร?
BCG คือ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ประกอบด้วย Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะมุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มจากความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งประกอบด้วย (1) การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (2) การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภคอย่างยั่งยืน (3) การลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (4) การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำจนถึงภาคการผลิตและบริการที่เป็นปลายน้ำ และ (5) การสร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (APEC Business Advisory Council-ABAC) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย คือ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การระบาดของโรคใหม่และอุบัติซ้ำ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นกุญแจสำคัญ เพราะจะสามารถสร้างความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การขับเคลื่อน BCG จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสามารถส่งเสริมนโยบายและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เขตเศรษฐกิจอื่นๆ

สำหรับความร่วมมือด้านการเกษตร ไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับนโยบาย “3S” ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Policy Partnership on Food Security: PPFS) จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (APEC Food Security Roadmap Towards 2030 Implementation Plan) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมกันต่อไป

ส.อ.ท. เดินหน้าผลักดัน SAI สู่ BCG in Action
สำหรับแนวทางที่ ส.อ.ท. เน้นย้ำด้านการเกษตร ก็คือ การพัฒนาโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้อุปสงค์หรือความต้องการเป็นตัวนำ (Demand Driven) ประกอบกับการนำอุตสาหกรรมไปต่อยอดและยกระดับเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำเกษตรอุตสาหกรรม

SAI เกิดขึ้นมาจากการขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของเกษตรกรด้านบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิต การเก็บเกี่ยว การคัดแยกคุณภาพ การรวบรวม และการกระจายผลผลิตไปยังลูกค้าปลายทาง นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิต การรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีความสม่ำเสมอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อส่งมอบสินค้าได้ครบถ้วนทั้งตามเวลาที่นัดหมาย จำนวนและคุณภาพที่ตกลงกัน

ดังนั้น SAI จึงเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต การเก็บรักษาและลดการสูญเสียในระหว่างการผลิตและการขนส่งให้แก่เกษตรกร ที่มุ่งให้เกิดการลดขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะปลูก และแปรรูป ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์สินค้าระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ นำไปสู่การพัฒนาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ พืชเป้าหมายที่จะนำร่องในโครงการ SAI คือ เห็ดยามาบูชิตาเกะ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม
ต่อเนื่อง ที่สามารถนำมาทำเป็นอาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยคาดว่าจะนำร่อง SAI เป็นที่แรกในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่า SAI in the City ในปี 2566 นี้ และจะเป็น One stop service หรือศูนย์บริการที่ครบวงจรทางด้านการเกษตรอัจฉริยะและอาหารแห่งอนาคตแห่งแรกในประเทศไทย

“นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดหลักเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับสร้างผลกำไร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ส.อ.ท. ที่ดำเนินการเรื่อง SAI อยู่ ณ ขณะนี้ ผมมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อประเทศไทย ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่ประเทศไทยมุ่งหวังได้อย่างแน่นอน” นายเกรียงไกร กล่าวปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น