xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก สนใจลงทุนไทย หลังตลาดในประเทศเติบโตชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีโอไอ เผย ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก สนใจลงทุนในไทย หลังตลาดในประเทศเติบโตชัด ล่าสุด อยู่ระหว่างเจรจาหลายราย ชี้ ผลสำเร็จของนโยบายสร้างตลาดดึงดูดลงทุน นายกรัฐมนตรีกำชับเร่งให้สิทธิประโยชน์ ให้ค่ายรถเลือกไทยฐานผลิตหลัก

วันนี้ (26 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลกำหนดนโยบายให้การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ติดตามผลสัมฤทธิ์ของนโยบายอย่างต่อเนื่อง และพอใจกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานว่า ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า ได้มีผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกให้ความสนใจประเทศไทย ประกอบกับไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ ทั้งรถยนต์นั่ง กระบะ จักรยานยนต์ ที่สำคัญของโลกอยู่แล้ว ซึ่งผู้ผลิตหลายราย ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามายังบีโอไอ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย จากทั้ง จีน ญี่ป่น และยุโรป ที่ให้ความสนใจมาลงทุนในไทยด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อมูลของบีโอไอแสดงให้เห็นว่า นอกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ความต้องการและตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า สนใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตเพื่อขายในไทยและส่งออกไปทั่วโลก

ล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รายงานว่า 10 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) ทั่วประเทศมียานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ 15,258 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2564 ร้อยละ 230.62 โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง และ จักรยานยนต์ ที่ 7,046 คัน และ 7,534 คัน ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นรถอื่นๆ เช่น รถโดยสาร รถกระบะ รถบรรทุก รถแวน รถสามล้อ เป็นต้น

เมื่อรวมกับส่วนที่ทยอยจดทะเบียนมาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการใช้และผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้ว ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 26,527 คัน เพิ่มขึ้นจาก ณ ต.ค. 64 ร้อยละ 162.25 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 11,025 คัน และจักรยานยนต์ 14,170 คัน ส่วนที่เหลือเป็นยานยนต์ประเภทอื่นๆ

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นความต้องการในประเทศ โดยมีผลตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากกระแสความสนใจของประชาชนต่อยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ที่ผู้ผลิตเสนอออกสู่ตลาด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนงานปี 2566 ที่บีโอไอจะมีกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศทุกรูปแบบ และช่องทางรวมกว่า 200 ครั้ง นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เสนออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก เร่งให้ข้อมูลนักลงทุนได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานผลิตหลักให้ได้

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ปัจจุบันอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ EV ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการได้นำไปสู่การออกทั้งมาตรการกระตุ้นความต้องการสร้างตลาดในประเทศ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต รถยนต์ รถโดยสาร จักรยานยนต์ เรือไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน และ แบตเตอรี่ รวมถึงมาตรการเสริมของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดึงดูดผู้ผลิตเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ประเทศไทยจะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น