xs
xsm
sm
md
lg

จริงดิ! สภาองค์การนายจ้างกังขา! เพื่อไทยชูขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างกังขา! วิสัยทัศน์ประธานที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมฯ พรรคเพื่อไทยชูนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนในปี 2570 ถือเป็นการทำลายโครงสร้างบอร์ดไตรภาคีที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของประธานคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจหากเข้ามาบริหารประเทศต้องการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี การผลักดันส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขั้นต่ำอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยนำไปผูกกับค่าแรงที่สูงจะทำให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเกียรติ ซึ่งประเด็นนี้ยังกังขาว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ซึ่งหากดำเนินการถือเป็นการทำลายโครงสร้างไตรภาคี

“ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำในการพิจารณาของไตรภาคีถึงแม้บางครั้งภาคการเมืองจะเข้ามาก็ต้องชี้นำอยู่ในไตรภาคี การประกาศนโยบายเช่นนี้จะทำลายโครงสร้างค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง และไม่ชัดเจนว่าเป็นนโยบายของพรรคหรือขัดต่อกฎหมาย กกต.ที่แทรกแซงไตรภาคีคณะกรรมการค่าจ้างหรือไม่แต่อาจทำให้หลายพรรคการเมืองนำไปใช้ หากเป็นจริงประเทศไทยอาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออก ผลดีจะตกไปอยู่กับประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งจะส่งสินค้าราคาถูกกลับเข้ามาขายในประเทศ” นายธนิตกล่าว

ก่อนหน้านี้ปี พ.ศ. 2555-2556 พรรคเพื่อไทยสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 141 บาทหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-88 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออกชะลอตัว

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งประกาศใช้ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 มี 9 อัตรา แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันสูงสุดวันละ 354 บาท (มี 3 จังหวัด) ต่ำสุดวันละ 328 บาท (มี 5 จังหวัด) กทม.และปริมณฑลอัตราค่าจ้าง 353 บาท อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นประเด็นหาเสียงคือวันละ 600 บาทภายในปี พ.ศ. 2570 หากใช้อัตราค่าจ้างของ กทม.และปริมณฑลเป็นฐานจะทำให้ค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้าวันละ 247-250 บาทหรือเฉลี่ยขึ้นปีละ 50 บาท ซึ่งค่าจ้างที่กล่าวก็ไม่ได้ระบุว่าเท่ากันทั้งประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ หากใช้เหมือนเมื่ออดีตคือเท่ากันทุกจังหวัด จังหวัดที่กระทบมากสุดคือกลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์เศรษฐกิจ เช่น ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี ซึ่งได้รับค่าจ้างวันละ 328 บาทจะต้องปรับค่าจ้างในอัตราที่สูง และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าวปัจจุบันมีจำนวน 2,408,716 คน ขณะที่แรงงานไทยที่รายได้ไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 1 ใน 3 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมดก็จะได้รับอานิสงส์
กำลังโหลดความคิดเห็น