สภาองค์การนายจ้างฯ เผยแนวโน้มตลาดแรงงานปี 2566 ของไทยเติบโตแบบเปราะบางจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยฉุดส่งออกของไทยโตแผ่ว ขณะที่ท่องเที่ยวต่างชาติมีทิศทางฟื้นตัวในระดับ 20 ล้านคน เผยแรงงาน ม.33 ในระบบประกันสังคมยังคงหายไปราว 2.6 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ส่งผลตลาดแรงงานไทยยังคงเผชิญแรงงานขาดแคลน และตกงาน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานในปี 2566 ของไทยยังคงมีอัตราการจ้างงานใหม่ขยายตัวแบบเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2566 โดยมีการประเมินว่ามูลค่าส่งออกรูปเงินเหรียญจะเติบโตได้เพียง 1% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโตระดับ 7.5% โดยปัญหาด้านแรงงานของไทยยังคงเผชิญ 2 ด้าน คือ 1. การขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวสูงและมีทักษะ 2. การตกงานของแรงงานที่จบใหม่ที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง
“เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 ไม่ดีนักและเศรษฐกิจคู่ค้ารายใหญ่ๆ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แม้กระทั่งจีนก็ไม่ค่อยดี เหล่านี้ย่อมกระทบต่อการส่งออกของไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกเดือน ต.ค. 65 ขยายตัวติดลบ 4.4% ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน และคาดว่าเดือน พ.ย.นี้ยังคงติดลบต่ออีก คำสั่งซื้อล่วงหน้าหลายสินค้าเริ่มลดต่ำลง เช่น กลุ่มสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ฯลฯ เมื่อการส่งออกไม่ได้เติบโตมากนัก กำลังการผลิตยังคงเหลือจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่ม” นายธนิตกล่าว
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเองปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 10 ล้านคน หากปี 2566 มาเพิ่มเป็น 20 ล้านคนก็ยังคงไม่เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มากถึง 40 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวก็ทำให้แรงงานบางส่วนทยอยกลับเข้ามา แต่หากมองตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมซึ่งเป็นพนักงานเอกชนทั่วไป (ม.33) โดยรวมไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วนับตั้งแต่ พ.ย. 64 ที่แรงงานเริ่มมีการไหลเข้ามาเพิ่มจากเดิมที่ลดลง และ 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) ตัวเลขแรงงานของ ม.33 มีเพิ่มขึ้น 3.5 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาดยังหายไปราว 2.6 แสนคน
นายธนิตกล่าวว่า แรงงานที่ยังหายไปราว 2.6 แสนคนสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานคืนถิ่นหลังจากที่ตกงานช่วงโควิด-19 ยังไม่กลับมาเพราะไปอยู่ในภาคเกษตรที่สามารถเลี้ยงชีพได้แบบพอมีพอกินไม่เดือดร้อน และอีกส่วนหนึ่งค่าครองชีพในเมืองสูงขึ้นหากได้งานเพียงคนเดียวไม่เป็นครอบครัวหรือสามี-ภรรยาก็ไม่อาจกลับเข้ามาสู่ระบบแรงงานได้ ขณะเดียวกันเด็กจบใหม่นอกเหนือจากจบการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้างแล้วยังพบว่าเด็กจบใหม่บางส่วนไม่อยากทำงานในระบบมุ่งหางานอสิระหรือฟรีแลนซ์แทน ดังนั้นปี 66 ท่ามกลางสภาพปัจจัยเสี่ยงไม่แน่นอนสูงนายจ้างจึงต้องรักษาแรงงานมีฝีมือไว้ให้มากสุด เช่น การขึ้นเงินเดือน 5-6%
"ปี 2566 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็ต้องปรับตัวเองเพราะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงตามทิศทางของโลก ซึ่งไทยอาศัยตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูงจึงได้รับผลกระทบโดยตรง โดยต้องมีกลยุทธ์ในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับต้นทุนที่สูง การตลาดที่ต้องเน้นเชิงรุกมากขึ้น ฯลฯ ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องประหยัดเพราะค่าครองชีพยังคงสูง" นายธนิตกล่าว