xs
xsm
sm
md
lg

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-ลดเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ตามคาด พร้อมลดเป้าหมายจีดีพีปีนี้เติบโตเกลือ 3.2% ส่วนปี 66 คาดโต 3.7% มองท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนยังเป็นปัจจัยหนุนหลัก ติดตามปัจจัยเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน


นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 1% เป็น 1.25% พร้อมทั้งปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือ 3.2% จากเดิมที่ 3.3% ปี 66 ปรับลดลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่ 3.8% และคาดว่าปี 67 จะขยายตัวได้ 3.9%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเป็นแรงส่งสำคัญ และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดอยู่ที่ 6.3% ปี 66 ที่ 3% และปี 67 ที่ 2.1% โดยเงินเฟ้อในปี 66 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน จากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่คาดว่าลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อนั้น ผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

สำหรับการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 7.4% จากเดิมคาด 8.2% ขณะที่ปี 66 คาดขยายตัว 1% และปี 67 ที่ 2.6% ด้านการนำเข้าในปีนี้คาดขยายตัว 18.1% ปี 66 ที่ 0.4% และปี 67 ที่ 3.3% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ประเมินที่ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปี 66 ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปี 67 ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

"การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ แต่ยังคงต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และในระยะต่อไป"

ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถีบยรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยกนง.ควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

"กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยเปลี่ยนไปจากประเมินไว้ กนง.พร้อมปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป"

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นนั้น มองว่า แม้ต้นทุนการเทรดจะเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะสร้างผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยรวม แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามหรือคำนึงถึงในระยะต่อไปเช่นกัน

*เศรษฐกิจเดือน ต.ค.ยังโตต่อเนื่อง*

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวโดยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในเดือนต.ค.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.47 ล้านคน ขณะที่การส่งออกในเดือน ต.ค.ติดลบ 3.6% ด้านการนำเข้าขยายตัว 5.4% โดยหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า หมวดเคมีภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่องตามการส่งออกไปจีน หลังจากจีนมีนโยบายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และหมวดปิโตรเคมีที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

ด้านการนำเข้าลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากตามน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น นอกจากนี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติปรับลดลงจากราคาเป็นสำคัญ หลังจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 837 ล้านดอลลาร์ และดุลการค้าเกินดุล 1,653 ล้านดอลลาร์

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงโดยอยู่ที่ 5.98% ตามราคาหมวดพลังงาน และหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.17% ตามราคาอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาดและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มในเดือนพ.ย. พบว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระยะต่อไปยังต้องติดตาม อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น