สศอ.คาดการณ์ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 จะขยายตัว 2.5-3.5% จากปีนี้ โดยดัชนีเตือนภัยยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวังระยะสั้นและยาวจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ค่าไฟเพิ่มขึ้น นโยบายการเงินและบาทอ่อนค่า ศก.โลกถดถอย หวั่นฉุดส่งออกชะลอตัว ขณะที่ฟุตบอลโลกปีนี้หนุน 5 อุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัว
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ปี 2566 จะขยายตัว 2.5-3.5% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 2% จากปี 2565 ที่คาดการณ์ว่า MPI จะขยายตัวอยู่ที่ 1.9% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 2% จากปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นโยบาย Zero Covid ของจีน เงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
"MPI เดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 93.89 ลดลง 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติอีกครั้งในเดือนพ.ย. อย่างไรก็ตาม MPI 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 65) ขยายตัว 2.2%" นางวรวรรณกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยระยะสั้นพ.ย. 65-ม.ค. 66 และระยะยาวเดือน ก.พ.-เม.ย. 66 ยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. ทิศทางราคาพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่รัฐไม่ได้ดูแลในส่วนของภาคอุตสาหกรรม 2. นโยบายการเงินและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุน
3. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ต้องติดตามใกล้ชิดซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตแบบชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการกีดกันและการย้ายฐานการผลิตด้านเทคโนโลยีที่อาจกระทบต่อการส่งออกในระยะต่อไป เหล่านี้ล้วนต้องติดตามใกล้ชิด
สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จัดขึ้นทุกสี่ปี โดยครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม 2565 สศอ.วิเคราะห์เบื้องต้นจะส่งผลบวกต่อ 5 อุตสาหกรรมสำคัญๆ ได้แก่ 1. อาหารสำเร็จรูป ประเภทขนมขบเคี้ยว 2. เครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 3. เสื้อผ้ากีฬาที่เกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอลเนื่องจากมีการส่งเสริมการขายจากผู้ผลิตเป็นพิเศษ 4. กระดาษไปรษณียบัตร ที่มีการเปิดให้ส่งลุ้นโชคถึง 300 ล้านฉบับทำให้มีความต้องการกระดาษแข็งปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 5. บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ที่เติบโตตาม
“MPI อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ต.ค. 65 ขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบกับ ต.ค. 64 ที่ติดลบถึง 6.6% เนื่องจากผลกระทบโควิดโดยมาจากปัจจัยที่มีการเปิดการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์คือ เบียร์ ที่ส่งผลบวกสูงที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งนอกจากจะรองรับฟุตบอลโลกแล้วยังเตรียมสต๊อกเพื่อรับเทศกาลปีใหม่อีกด้วย” นางวรวรรณกล่าว