ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตพลังงานโลก ต้องบอกว่างานสัมมนาออนไลน์ 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนี่คืออีกหนึ่งเวทีที่นำเสนอบทวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน สถานการณ์พลังงานและความท้าทายที่กระทบอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก
โดยงานดังกล่าวนี้เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่ม ปตท. ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อในการจัดงานซึ่งสอดรับกับสถานการณ์โลกเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future - เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก” โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงาน
ทั้งนี้ ภายในงานนอกจากเวทีเสวนา ซึ่งมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตพลังงาน สู่ความยั่งยืน” เพื่อร่วมหาทางออกในสถานการณ์ที่ท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ สู่สมดุลใน 3 มิติ คือ การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ยังมีบทวิเคราะห์ซึ่งอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระจากทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” ซึ่งช่วยเปิดหูเปิดตาและเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับทิศทางของพลังงานในปีถัดไป และในอนาคต ซึ่งต้องบอกว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ส่องวิกฤตซัปพลายพลังงานน้ำมัน จับตา อิหร่าน-เวเนซุเอลา อาจเป็น Game Changer
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบในด้านพลังงานไปทั่วโลก “สิรวิชญ์ สมรัตนกุล” หนึ่งใน PRISM Experts ระบุว่า จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล สะท้อนวิกฤตอุปทานน้ำมันโลก
“ถ้าเราย้อนกลับไปดูราคาในอดีต จะพบว่าราคาน้ำมันจะได้รับผลกระทบในด้านซัปพลายเป็นหลัก อย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มของโอเปกเคยมีมติในการปรับลดกำลังการผลิตจนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี แต่นั่นก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Technology Breakthrough หลังจากสหรัฐฯ สามารถคิดค้นนวัตกรรมจากชั้นหินออกมาได้ ทำให้มีซัปพลายเข้ามาในตลาด และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง”
“สิรวิชญ์” กล่าวต่อไปว่า รัสเซียนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อตลาดน้ำมันโลก โดยปกติรัสเซียมีการผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองแค่สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เน้นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ในขณะที่รัสเซียมีการส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นั่นจึงทำให้ตลาดมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าซัปพลายจากรัสเซียอาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นนั่นเอง
“ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป ปกติรัสเซียได้ส่งออกน้ำมันไปยังยุโรปสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว แต่พอเกิดสงคราม การส่งออกก็ได้รับผลกระทบ จากการที่ยุโรปมีมติคว่ำบาตรและไม่นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย โดยในวันที่ 5 ธ.ค. 65 จะเป็นการคว่ำบาตรอย่างเต็มรูปแบบ นั่นจึงทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าซัปพลายจากรัสเซีย อาจได้รับผลกระทบสูงถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของซัปพลายทั่วโลก”
คำถามต่อมาก็คือ จากสถานการณ์ที่ซัปพลายหายไป ตลาดมีการตอบสนองอย่างไรบ้าง “สิรวิชญ์” ให้ข้อมูลว่า ฝั่งที่เพิ่มซัปพลายเข้ามามี 3 แหล่งด้วยกัน คือ 1. SPR (Strategic Petroleum Reserve) หรือน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ที่ปกติจะใช้ในยามที่ฉุกเฉินเท่านั้น และจะถูกผลักดันด้วยนโยบายของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยลดความตึงเครียดในช่วงระยะเวลาอันสั้น 2. OPEC+ ที่จะถูกผลักดันด้วยนโยบายของกลุ่ม ในการปรับเพิ่มหรือลดกำลังการผลิต เพื่อควบคุมซัปพลายในตลาดไม่ให้สูงหรือน้อยเกินไป ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมาก็มีการเพิ่มซัปพลายเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักๆ มาจาก 3 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ซึ่งมีการเพิ่มซัปพลายเข้ามาประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“แต่หลายๆ ประเทศในกลุ่มโอเปกก็กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ และยังมีปัญหาด้านการผลิตอีกด้วย นั่นจึงทำให้โอเปกไม่สามารถผลิตได้ตามโควตาหรือแผนที่วางเอาไว้ เราจึงต้องพึ่งพาผู้ผลิตรายต่อไป นั่นก็คือรายที่ 3. Non-OPEC หรือกลุ่มผู้ผลิตนอกโอเปก ซึ่งจะถูกผลักดันด้วยราคาน้ำมันดิบ ถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ผู้ผลิตก็พร้อมที่จะลงทุนในน้ำมันดิบและการขุดเจาะเพิ่มเติม และในช่วงที่ผ่านมามีการเพิ่มซัปพลายเข้ามาในตลาดแล้วมากกว่า 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบราซิล”
อย่างไรก็ดี “สิรวิชญ์” กล่าวย้ำว่า ถึงแม้จะมีซัปพลายจากหลายๆ แหล่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น Security of Supply อย่างแท้จริง เรายังคงต้องจับตาดู Game Changer อย่างอิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่สหรัฐฯ อาจจะมีการเข้าไปพูดคุยและทบทวนมาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและอาจจะสนับสนุนให้อิหร่านและเวเนซุเอลามีการผลิตน้ำมันดิบออกมาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนกระทบปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างอัตราเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
“จากข้อมูลซัปพลายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้กลุ่ม PRISM สรุปได้ว่าซัปพลายจากรัสเซียอาจจะมีการปรับตัวลดลงราว 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ซัปพลายจากกลุ่มโอเปกอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 6 แสนบาร์เรลต่อวัน และซัปพลายจากกลุ่ม Non-OPEC อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ภาพรวมในปีหน้าเราคาดการณ์ว่าซัปพลายอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน” สิรวิชญ์กล่าวในตอนท้าย
คาดแนวโน้มปี 66 ราคาน้ำมัน 85-95 เหรียญสหรัฐ
เมื่อต้นปี 2565 มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะมีการเติบโตหรือจีดีพี 3.9% แต่พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน การคาดการณ์ก็ลดลงเหลือเพียง 3.2% แต่ “นิธิภัทร แสงดาวฉาย” หนึ่งในทีม PRISM Experts ชี้ว่าเราไม่สามารถดูแค่จีดีพีอย่างเดียวได้ เพราะเมื่อเอาเงินเฟ้อมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้อยู่ที่ 8.8% ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะถ้ามองย้อนไปในอดีตเงินเฟ้อทั่วโลกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3-5% เท่านั้น
“การที่เงินเฟ้อสูงกว่าจีดีพี เป็นผลมาจากรัสเซีย เพราะรัสเซียส่งออกสินค้าสำคัญของโลก เพราะนอกจากรัสเซียจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังส่งออกสินค้าอื่นๆ เช่น เหล็ก พัลลาเดียม รวมไปถึงน้ำมันดอกทานตะวันและข้าวสาลี ซึ่งข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบสำคัญของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาของข้าวสาลีในตลาดชิคาโกเมื่อเดือนมีนาคม 2565 แพงสุดในรอบ 14 ปี”
นอกจากนั้น น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันดอกทานตะวัน พอน้ำมันดอกทานตะวันมีปัญหาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น โดยน้ำมันปาล์มในตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซาของมาเลเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2565 แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ผลกระทบจากสงคราม ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการ รวมทั้งราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และถ้าดูในฝั่งของความต้องการใช้น้ำมัน ปีนี้คาดว่าจะโต 2.2% และปีหน้า 2566 อยู่ที่ 1.8.% ก็ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 ปีเช่นกัน ทั้งนี้ “นิธิภัทร” ระบุว่า เหตุการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน หรืออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ภาพเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่คาด และนั่นก็จะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันอย่างแน่นอน
“ในปี 2566 ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก จะโตสูงขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากคาดการณ์เดิมเกือบเท่าตัว ซึ่งอยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน กลุ่ม PRISM คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีนี้ที่อยู่ที่ 99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ระดับ 85-95 ก็ถือว่าสูง เพราะว่าถ้าเรามองย้อนกลับไปที่ 3-4 ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น”
“นิธิภัทร” ชี้ชัดว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับภาวะ Unprecedented Uncertainty หรือความไม่แน่นอนอย่างเป็นประวัติการณ์ มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่อยู่เบื้องหน้า ไม่ใช่เพียงเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ยังมีเรื่องเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้คือปัญหาสภาพแวดล้อม หรือเรื่องฮีตเวฟที่เกิดขึ้นในยุโรป ขณะเดียวกัน ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่ว ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามส่งออกชิปที่ใช้ผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์กับเอไอไปยังจีน ซึ่งจีนเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก ถ้าจีนขาดตรงนี้ไป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งนั่นก็จะกระทบเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันด้วย
นอกจากนี้แล้ว ปี 2566 ถ้าสภาพอากาศแปรปรวน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติ จะเป็นอีกปีที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวสูง เพราะอย่างปีนี้รัสเซียหยุดส่งก๊าซไปยุโรปแล้ว 75% เหลือเพียง 25% ถ้าปีหน้า รัสเซียหยุดส่งออกก๊าซไปยุโรปทั้งหมด ยุโรปก็ต้องมาแย่งชิงก๊าซธรรมชาติเหลวกับตลาดเอเชีย จะยิ่งทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นไปอีก และอาจจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้
ขณะที่ในฝั่งของน้ำมันดีเซลและก๊าซโซลีน น้ำมันเจ็ต เนื่องจากจีนยังไม่เปิดประเทศ ก็อาจจะยังไม่มีการใช้มากเท่าที่ควร “นิธิภัทร” ย้ำอีกว่า นับจากนี้การผลิตน้ำมันจะดูแค่โอเปกอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องดูเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีลดลง และเร็วๆ นี้ ทางกลุ่ม G7 ก็จะมีการตั้งเพดานกดดันรัสเซียมากขึ้น ขณะที่นาโต้ก็เริ่มส่งสัญญาณการเข้าร่วมของฟินแลนด์และสวีเดน สรุปแล้วก็คือ โลกพลังงานยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนจากหลายปัจจัย สิ่งที่ทุกคนทำได้ขณะนี้ คือช่วยกันประหยัดพลังงาน
Renewable Energy บทสรุปทิศทางพลังงานแห่งอนาคต
เดชาธร ฐิสิฐสกร อีกหนึ่งนักวิเคราะห์ของทีม PRISM Experts กล่าวว่า การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นสิ่งที่พวกเราช่วยกันได้เพื่อโลกของเรา เนื่องจากสถานการณ์ของพลังงานโลกได้เดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่าวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี หรือสิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของความยั่งยืนด้านพลังงาน แต่การจะสร้างความยั่งยืนต้องดูบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
“เราต้องดูว่า ซอร์สของพลังงานแบบไหนที่จะเหมาะนำไปใช้ในพลังงานอนาคต และโลกของเราทุกวันนี้กำลังมุ่งไปสู่ Net Zero Emissions (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) เพราะฉะนั้น Renewable Energy Source จึงเป็นทางออกและคำตอบสำหรับการสร้างพลังงานในอนาคต โดย Renewable Energy Source ปี 2020 อัตราส่วน 20% ปี 2030 อัตราส่วน 28% และในปี 2040 จะมีอัตราส่วนอยู่ที่ 42%”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Renewable Energy Source จะเป็นทิศทางของพลังงานต่อไปในอนาคต แต่คีย์ที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ไม่ใช่จะมุ่งหน้าไปที่ซอร์สอย่างเดียวเท่านั้น แต่การบาลานซ์พลังงานทุกรูปแบบเข้าด้วยกัน จะเป็นการสร้างเสถียรภาพของพลังงาน ทั้งในด้านของประสิทธิภาพ (efficiency) และราคาพลังงาน
เดชาธรกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า โลกอนาคตจะมุ่งสู่การใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นทิศทางในการสร้างพลังงานยั่งยืนต่อไป
“บทสรุปในการที่เราจะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับโลกของเรา จะมี Core ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ Economic, Security และ Environment ซึ่งด้วยภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ เราคงต้องให้ความสำคัญในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพพลังงานจากแหล่งที่เป็น Conditional Source ก่อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่โลกของเรามีการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ และมีความมั่นคงด้านพลังงานที่เป็น Renewable Energy มีราคาที่ถูกลง มี Efficiency ที่เพิ่มขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น เราก็สามารถที่จะมาดูแลสิ่งแวดล้อมของเราให้มีความยั่งยืนต่อไป เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง Core ทั้งสาม ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโลกของเราต่อไปอย่างยั่งยืน” เดชาธรกล่าวทิ้งท้าย