ผู้จัดการรายวัน 360 - เบโคชูกลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรก ผ่านงบการตลาดเพิ่ม 2 เท่า ปักธงรายได้ 2,000 ล้านบาทในปี 66 เชื่อปีหน้าภาพเครื่องใช้ไฟฟ้ามีบวก 5% จากปีนี้ครึ่งปีแรกเหนื่อยสุดๆ คาดถึงสิ้นปีปิดรายได้ 1,600 ล้านบาท โต 26% จากปีก่อน
นายพรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าเชิงพาณิชย์ภายในประเทศ บริษัท เบโค ไทย จำกัด เปิดเผยว่า เบโคทำตลาดในไทยมา 7 ปี แต่ยังถือเป็นน้องใหม่ของตลาด การรับรู้แบรนด์ยังน้อย หรือราว 40% อีกทั้งผู้บริโภคยังออกเสียงเรียก เบโคไม่ถูกต้อง ถือเป็นจุดอ่อนที่เบโคได้ปรับแผนการตลาดในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้กลยุทธ์มิวสิกมาร์เกตติ้ง ชูคำว่า เบโค ไปอยู่ในเพลง และเลือกใช้ศิลปิน โบกี้ไลอ้อน สื่อสารออกไป โดยเฉพาะทางแพลตฟอร์มติ๊กต็อก ซึ่งช่วยให้แบรนด์เบโคเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ล่าสุดในปี 2566 บริษัทใช้งบการตลาดเพิ่มขึ้น 2 เท่า พร้อมชูกลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ กับ “เบเบ้-ธันย์ชนก” เป็นครั้งแรก ในการบุกกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้เบโคเติบโตขึ้นอีก 35% หรือมีรายได้ที่ 2,000 ล้านบาท มาจากตู้เย็น 35% เครื่องซักผ้า/อบผ้า 28% เครื่องปรับอากาศ/ทำความร้อน 20% และอีก 17% เป็นรายได้จากพาร์ตเนอร์ ส่วนปี 65 นี้คาดว่าจะปิดรายได้ที่ 1,600 ล้านบาท โตจากปีก่อน 26%
“การที่เบโคเพิ่งมาใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรกในปีที่ 7 นี้ มองว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม และความพร้อมของดิสทริบิวเตอร์ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ ปีนี้จึงพร้อมทำตลาดอย่างเต็มกำลัง จาก 2 ปีแรกเคยใช้กลยุทธ์สปอตโฆษณาทางทีวี เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมาบ้างแล้ว”
นางสาวณัฏฐินี เตชะรุ่งนิรันดร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและวางแผนผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เบโค ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า เบโคมีจุดแข็ง 3 ด้าน คือ 1. เฮลตี้ เทคโนโลยี, 2. ซัสเทนเอเบิล เทคโนโลยี และ 3. ท็อป ยูโรเปี้ยน สแตนดาร์ด บวกกับความพร้อมที่จะรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง
ดังนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2565 นี้ไปจนถึงปีหน้าบริษัทพร้อมใช้งบการตลาดมากกว่า 200 ล้านบาท หรือใช้มากขึ้น 2 เท่าในการรุกตลาดอย่างเต็มกำลัง นำเสนอสินค้าที่มีจุดเด่นในเรื่องของเฮลตี้ เทคโนโลยี พร้อมได้ เบเบ้-ธันย์ชนก มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และจะร่วมทำกิจกรรมไปตลอดปี 66 เชื่อว่าจะส่งผลให้เบโคเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอย่าง มิลเลนเนียล ที่มีอายุตั้งแต่ 25-44 ปี และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ กับการใช้ชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้เจอปัจจัยลบรุมเร้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ค่าไฟขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ค่าเงินบาทผันผวน ล้วนแต่ส่งผลต่อตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในปีหน้ามองว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ 5% หลังโควิดคลี่คลาย
“ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่รวมกลุ่มจอภาพ ปี 2566 มีแนวโน้มเติมโต 5% โดยเฉพาะตลาดแอร์ จากปัจจุบันภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าราว 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น แอร์ 30% หรือ 30,000 ล้านบาท, ตู้เย็น 19% หรือ 19,000 ล้านบาท, เครื่องซักผ้า 15% หรือ 15,000 ล้านบาท และอื่นๆ รวมกันอีกราว 35%” นางสาวณัฏฐินีกล่าวสรุป