xs
xsm
sm
md
lg

สภาธุรกิจฯ ชง 3 ข้อเสนอยื่นเวทีผู้นำเขต ศก.เอเปก 18 พ.ย.แก้เร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (ABAC) เตรียมนำข้อสรุปข้อเสนอแนะ 5 เรื่องหลัก 69 ข้อย่อย พร้อมแทรก 3 ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อให้ผู้นำเขต ศก.เอเปกแก้ไขในการประชุม 18 พ.ย.นี้ โดยเรื่องเร่งด่วนได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อ วิกฤตขาดแคลนอาหารที่ปลายปีนี้จะมีนับสิบประเทศยากจนขาดแคลน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หวังขับเคลื่อน ศก.โลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (ABAC)
เปิดเผยว่า สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปกเตรียมเสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) วันที่ 18 พ.ย.นี้ ซึ่งมีข้อเสนอแนะรวม 5 ข้อหลัก รวม 69 ข้อย่อย และข้อเสนอเร่งด่วน 3 เรื่องที่มีความท้าทายเข้ามา ได้แก่ 1. การเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนจากราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลต่อราคาสินค้าที่แพงขึ้น 2. ปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกที่มีรายงานพบว่าในปลายปีนี้จะมีหลายสิบประเทศทั่วโลกที่เป็นประเทศยากจนจะเกิดการขาดแคลนอาหาร และ 3. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

“ABAC ผ่านการประชุมใหญ่มาตลอดปี 3 ครั้งที่สิงคโปร์ แคนาดา เวียดนาม และครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 13-16 พ.ย. ทำให้วันนี้ได้ข้อเสนอรวมทั้งสิ้น 69 ข้อย่อยใน 5 ข้อหลักภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทางคือ การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน และการกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนทั่วถึงและยืดหยุ่น แต่ก็มีเรื่องเร่งด่วนแทรกมา 3 เรื่องที่จะเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกต้องเร่งแก้ไขเพราะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ขณะนี้หลายส่วนกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอยในระยะต่อไป” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ เอกชนเห็นว่าจำเป็นที่ผู้นำเขต ศก.เอเปกจะต้องร่วมมือแก้ไขเนื่องจากพบว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมากลายเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 21 เขต ศก.ได้รับผลกระทบอย่างมาก และขณะนี้ทั่วโลกต่างกำลังเปิดประเทศจึงเป็นโอกาสที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงจึงมีข้อเสนอหลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1. การรวมในภูมิภาคเพื่อการเปิดประเทศที่ควรอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคต่างๆ การจัดทำข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA ระหว่างสมาชิกเอเปก (FTAAP) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสมาชิก 21 เขต ศก.

2. ส่งเสริมดิจิทัล ซึ่งผลจากโควิด-19 ทำให้การใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้นกลายเป็นวิถีใหม่ (New Normal ) ผู้นำแต่ละประเทศจึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง มีความเท่าเทียม พัฒนาบุคลากรรองรับ ฯลฯ 3. ความยั่งยืน (Sustainable) ต้องร่วมกันสร้างความสมดุลระบบเศรษฐกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน 4. MSME หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย ซึ่งมีถึง 97% ของภาคธุรกิจที่ต้องเร่งดูแลเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีเพศที่จะเป็นผู้บริหารเอกชนหรือ CEO มากขึ้นเพราะหลายประเทศจะให้เงินเดือนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นสตรีเพศต่ำกว่าชาย ซึ่งไทยไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ และ 5. เศรษฐกิจการเงิน ที่ผู้นำเอเปกต้องเร่งพัฒนาให้รวดเร็วและมองความยั่งยืนควบคู่โดยเฉพาะ Digital Finance เพื่อให้ทุกส่วนได้เข้าถึงแหล่งเงิน ฯลฯ


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ 2022 และ APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า ได้มีการจัดทำรายงานที่จะให้คำแนะนำต่อธุรกิจในประเด็นต่างๆ อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากข้อเสนอต่อผู้นำเอเปก เพราะภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การปรับตัวหลังโควิดจากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าการปรับตัวสู่ดิจิทัลของธุรกิจและผู้บริโภคที่รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ทั้งโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้...เราเชื่อว่าช่วงเวลาเช่นนี้ภาคธุรกิจกำลังต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือนำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้เป็นการเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น