โฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29
วันนี้ (15พ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (15 พ.ย. 65) เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ (3) การก้าวไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยแต่ละด้าน ครอบคลุมรายละเอียด ดังนี้
(1) การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ได้แก่ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรี FTAAP และการส่งเสริมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
(2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ได้แก่ พัฒนาและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนรัฐกับเอกชน เสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การค้าไร้กระดาษและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์การอำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดน ใช้ใบรับรองวัคซีน โควิด-19 อิเล็กทรอนิกส์
(3) การก้าวไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ได้แก่
สนับสนุนการรับมือกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/เพิ่มจำนวนสินค้าสิ่งแวดล้อมเอเปค เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพ เช่น MSME สตรี ชนพื้นเมือง ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างหลักประกันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมในราคาที่เข้าถึงได้ พัฒนาระบบการเกษตรอัจฉริยะเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน เสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำ ที่ไทยมุ่งจะผลักดันให้มีการรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ผ่านความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ (2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม (3) การอนุรักษ์ บริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ (4) การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน