xs
xsm
sm
md
lg

‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ ไขข้อข้องใจ ABAC สำคัญขนาดไหน ในเวที APEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกรียงไกร เธียรนุกุล
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็น “เสียงของภาคธุรกิจ” ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุน

ABAC ไม่เพียงเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ ทั้งเหตุโรคระบาด และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของผู้คน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ด้วยเหตุนี้ร่วมมือระหว่างสมาชิกของ APEC Business Advisory Council จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำที่สะท้อนความต้องการของผู้คนในภูมิภาคอย่างแท้จริง และนำยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงการประชุมเอเปคระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายนนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ได้ขยายความว่า


ที่มาของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC)

ABAC เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) ซึ่งเป็นช่วง 5 ปีภายหลังจากการรวมกลุ่มของเอเปค

การก่อตั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น “เสียงของภาคธุรกิจ” ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจในการดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุน โดยประกอบด้วยสมาชิก 63 ราย ที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 คนต่อเขตเศรษฐกิจ จากสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

ในส่วนของประเทศไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้แทนไทยในสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยแต่ละปีจะเวียนให้สมาชิกแต่ละเขตเศรษฐกิจทำหน้าที่เป็นประธานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

ตราสัญลักษณ์ของงาน ABAC 2022 จะใช้เป็นตราสัญลักษณ์ “ลายดอกลอย” ซึ่งหมายถึงการสอดประสาน ต่อยอดถักทอของเส้นสายที่แตกต่างทั้งสิ้น 21 เส้นเท่ากับจำนวนสมาชิกเขตเศรษฐกิจของเอเปค สะท้อนถึงการผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อเตรียมรับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของโลก พร้อมเดินหน้าสู่โลกที่เปลี่ยนไปสู่ดุลยภาพใหม่


ความแตกต่างระหว่าง APEC และ ABAC
เอเปค หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) คือ กรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือมิติด้านสังคมและการพัฒนาอื่นๆ เช่น การเกษตร ภัยพิบัติ การสนับสนุนบทบาทของผู้หญิง และการพัฒนาด้านสาธารณสุข โดยเอเปคก่อตั้งขึ้นในปี 2532

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประเทศจีน ฮ่องกง ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีนไทเป ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม ปาปัวนิวกินี นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู และชิลี

เอเปคมีประชากรรวมกันมากกว่า 2.8 พันล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 59% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงถึง 69.8% ของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด

ส่วนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ถูกจัดตั้งโดยเอเปคตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเป็นเวทีการหารือของภาคธุรกิจเอเปคในระดับพหุภาคี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อประเด็นด้านการค้าและการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอเปคโดยรวม และในช่วงวาระการประชุมระดับผู้นำประเทศจะมีเวทีย่อยหารือระหว่างผู้แทน ABAC และผู้นำเขตเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า ABAC Leaders Dialogue ซึ่งต่างก็เป็นกลไกที่ช่วยเสริมให้การนำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะต่างๆ ของภาคธุรกิจได้รับความสนใจและนำไปสู่การผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

ทุกๆ ปีเจ้าภาพ ABAC จะมีการจัดงานประชุมผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) ในช่วงเดียวกับการจัดประชุมผู้นำเอเปค เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้นำเอเปคหลายท่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้แทนทางธุรกิจกว่า 2,000 คน จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


บทบาทและหน้าที่สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC)
หน้าที่หลักของ ABAC คือ การให้คำแนะนำแก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่เอเปคในประเด็นที่น่าสนใจทางธุรกิจ ตลอดจนการส่งมอบข้อมูลทางธุรกิจเฉพาะด้าน

การประชุม ABAC จัดขึ้นเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั่วทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration) การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital) การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด (MSMEs and Inclusiveness) ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และระบบการเงินที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นและสภาพแวดล้อมตอบโจทย์ (Finance and Economics) โดยผลการหารือจากแต่ละรอบการประชุมจะนำไปสู่การพัฒนาบทสรุปข้อเสนอแนะเพื่อยื่นต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2565 ต่อไป

นอกจากนี้ ยังกำหนดธีมของงานที่สอดคล้องกับทางภาครัฐ โดยใช้ชื่อว่า “EMBRACE.ENGAGE.ENABLE” ซึ่งสื่อความหมาย ดังนี้

• EMBRACE: แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจหลังจากหยุดนิ่งจากสภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก
• ENGAGE: สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรสร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตร่วมกัน
• ENABLE: ขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทุกที่ทุกเวลา


ข้อเสนอแนะ 5 ด้านของ ABAC ต่อคณะรัฐมนตรีของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค)

ABAC พิจารณาเนื้อหาสาระการประชุมโดยการผสมผสานประเด็นของภาคธุรกิจจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และกระแสของโลก ณ ปัจจุบัน ดังนั้น ในการประชุมปีนี้ ABAC มีข้อเสนอทั้งหมด 69 ข้อ โดยได้ให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลักๆ ประกอบไปด้วย

1. ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration) ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี (FTA) โดยการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) การส่งเสริมประสิทธิภาพการค้าการลงทุนด้านการบริการ และมาตรการการเดินทางและข้อปฎิบัติด้านสาธารณสุขที่สอดคล้องกันในภูมิภาค เพื่อให้การเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย

2. ด้านดิจิทัล (Digital) มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ผ่านการนำข้อมูลประจำตัวดิจิทัลที่เชื่อถือได้มาใช้ในการทำงานร่วมกัน และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย (Cybersecurity and Cross Border Data Flow)

3. ด้าน MSMEs และการมีส่วนร่วม (MSMEs & Inclusiveness) ที่ต้องการฟื้นฟู พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 และส่งเสริมการมีบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง เยาวชนและกลุ่มที่ยังไม่ได้รับโอกาส โดยเน้นการเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs และด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4. ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ที่มุ่งเน้นการนำสังคมไปสู่ Net Zero ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต

5. ด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Finance and Economics) ที่ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและยั่งยืนโดยให้ความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

ตลอดทั้งปี ABAC มีการประชุมทั้งหมด 4 ครั้ง และในครั้งที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม (16-19 พฤศจิกายน 2565) โดยข้อสรุปทั้งหมดจากการประชุมนี้ ABAC ได้จัดทำรายงานที่ครอบคลุมถึงประเด็นความท้าทายหลักๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ การจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ การขจัดความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระยะกลางเราจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปค กระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนระบบการค้าตามกฎสากลและเร่งให้เกิด FTAAP และต้องการให้เอเปคส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวและการเติบโตทั้งผ่านการสนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะในธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของและธุรกิจของชนพื้นเมือง และการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

ในประเด็นความยั่งยืน ภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และใช้คาร์บอนต่ำสำหรับคนรุ่นหลัง และสนับสนุน BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ


ข้อเสนอแนะของ ABAC มีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย

• ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอเปค เพื่อเพิ่มบทบาทของไทยในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากเอเปคในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆ ให้แก่ภาครัฐและเอกชน

• ข้อเสนอของ ABAC จะช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption)

• การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในการเสริมสร้างบทบาทไทยในเวทีโลกและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับภูมิภาค รวมถึงสามารถกำหนดประเด็นที่ไทยสนใจและนำเสนอต่อเอเปค อาทิ เรื่อง BCG model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

• อีกหนึ่งของริเริ่มของ ABAC คือ การผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจไปเป็น FTAAP ในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2583 หากสำเร็จจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรรวมกันถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลกและจะมี GDP คิดเป็น 62% ของ GDP โลกมีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าราว 1,978 ล้านล้านบาท) ผลประโยชน์ที่ 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับโดยตรงอย่างน้อย คือ ภาษีจะเป็นศูนย์ระหว่างกัน เมื่อเป็น FTA กฎระเบียบการค้าจะเป็นกฎระเบียบเดียวกัน และจะมีการเปิดตลาดระหว่างกันทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน


คนไทยจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง ในการผลักดันให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เกิดผลสำเร็จ

• ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการดำเนินเศรษฐกิจของเอเปคและทำให้ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้าและความยั่งยืนไปด้วยกัน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการนั้น คือ การปรับตัวและคว้าโอกาสกับข้อเสนอของ ABAC ที่ต้องการให้เขตเศรษฐกิจทั้ง 21 รวมทั้งไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วมผ่านแนวคิด BCG ที่ไทยได้ผลักดันมาตลอดในการเป็นเจ้าภาพ ABAC/APEC

• ผู้ประกอบการ MSMEs ซึ่งมีความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจ จะต้องถูกพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญ ขณะเดียวกันต้องมีความยั่งยืน และที่สำคัญ คือ ต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่ง BCG Model สามารถช่วยส่งเสริมในประเด็นนี้ได้ โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การวิจัย พัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาภายใต้ BCG Model และยังเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) รวมถึงการให้บริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบให้กับ MSMEs ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรายใหญ่ และจะนำไปสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกได้ในอนาคต


คนไทยจะได้รับประโยชน์อะไร ภายหลังจากการยื่นข้อเสนอแนะดังกล่าว

• ABAC ในฐานะผู้แทนของภาคเอกชนทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ แรงงานและคนรุ่นใหม่นั้น คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นหลักเสมอในการเสนอข้อเสนอแนะแก่ผู้นำเอเปคทุกครั้ง ตัวอย่างที่ผลประโยชน์คนไทยจะได้รับ ได้แก่ โอกาสในการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจที่มีขนาดตลาดใหญ่ขึ้น และมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ MSMEs จะได้รับการรองรับโอกาสของการลงทุนจากต่างประเทศที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับทักษะแรงงานในพื้นที่ต่อไป และด้านความยั่งยืน ประเด็นเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และ Future Food อาหารแห่งอนาคต ก็อาจเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประชาชน

• ผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ อันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

• ท้ายที่สุดนี้ การประชุม ABAC/APEC ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดี ในการแสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าราว 19 ล้านล้านบาท) โดยที่ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการเติบโตไม่ว่าจะเป็นการส่งออกกว่า 70% ของ GDP การมีภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งราว 40% ของ GDP และภาคบริการราว 50% ของ GDP โดยจุดแข็งของไทย คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน และด้านอาหาร ที่ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านความมั่นคงของอาหารในเวทีโลกอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น