วิกฤตพลังงานในปี 2565 ฉุดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตกต่ำ ราคาวัตถุดิบพุ่งแต่ราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกลับขยับขึ้นไม่สะท้อนต้นทุน ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (สเปรด) แคบลงมาก จนทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีต่างพากันปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และดันสเปรดสูงขึ้นบ้าง
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ดันต้นทุนวัตถุดิบปิโตรเคมีพุ่ง รวมทั้งราคาถ่านหินและไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับการปิดเมืองจากนโยบาย Zero COVID ของจีนฉุดเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเคมีภัณฑ์ และแพกเกจจิ้งไปจีนของ SCC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ SCC ตัดสินใจเบรกการนำบริษัทลูก คือ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) เข้าระดมทุนเสนอขายหุ้น IPOในตลาดหลักทรัพย์ฯออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์โดยรวมและความเชื่อมั่นของนักลงทุนก่อนตัดสินใจ แม้ว่าจะได้รับอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 แล้วก็ตาม
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเผชิญวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบต่อบริษัทย่อยอย่าง SCGC ที่มีต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และยังมีกำลังการผลิตใหม่เกินความต้องการตลาดโลก ฉุดให้มาร์จิ้นธุรกิจเคมิคอลส์ลดต่ำมาก ดังนั้น SCGC จึงได้ปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่นๆ ในโลกที่ต่างพากันลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่ผ่านมา โดย SCGC มีปริมาณการขายโพลีโอเลฟินส์ในไตรมาสที่ 3/2565 ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 422,000 ตัน
ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเองก็ประสบปัญหาต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินที่มีราคาสูงหันไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) คิดเป็นสัดส่วน 40% จากการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด ที่ผ่านมา SCC เองก็มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไม่ได้แย่มากกว่าที่ควรเป็น รวมทั้งบริษัทได้มีการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนธุรกิจแพกเกจจิ้ง พบว่า บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ยังเติบโตได้ดีแม้เจอความผันผวนพลังงาน
ทั้งนี้ SCC ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตซ้อนวิกฤตครั้งนี้ มีการทบทวนการลงทุนและชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน ทำให้ปีนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 55,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็เร่งเดินหน้าการลงทุนให้แล้วเสร็จตามแผนงาน อาทิ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals (LSP) เวียดนาม ซึ่งมีความคืบหน้าตามแผน 97% คาดว่าช่วงครึ่งแรกปี 2566 จะผลิตเชิงพาณิชย์ป้อนตลาดเวียดนามช่วยทดแทนการนำเข้า
พลิกเกมรุก 3 ธุรกิจใหม่
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ภายใต้วิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ย่อมมีโอกาส ล่าสุด SCC พลิกเกมจากรับมือเป็นเชิงรุก เข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก คือ 1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยบริษัทมุ่งลดต้นทุน เร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) ทดแทนพลังงานฟอสซิล ทำให้ 9 เดือนนี้ SCC มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 34% จากเดิมใช้เพียง 18% ในปีก่อน และพลังงานแสงอาทิตย์ 195 เมกะวัตต์ ต่อยอดเป็นธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม โดยได้จัดตั้งบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี จำกัด (SCG Cleanergy) ขึ้นมาเป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนดิน (โซลาร์ฟาร์ม) โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำและพลังงานลม รวมทั้งพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม Smart grid โดยตั้งเป้าหมายใน 2-3 ปีข้างหน้า เอสซีจี คลีนเนอร์ยีจะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มแตะ 500 เมกะวัตต์ (MW) และขยับขึ้นเป็น 3,000 เมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ล่าสุด เอสซีจี คลีนเนอร์ยี เตรียมยื่นเสนอขายไฟโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นนั้น เบื้องต้นบริษัทสนใจโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 220 เมกะวัตต์
2. ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน (ASEAN Logistics) ล่าสุด บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ (SCGL) ควบรวมธุรกิจโลจิสติกส์กับ
บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (JWD) เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการที่หลากหลายทั้งบริการคลังสินค้า ระบบห้องเย็น บริการขนส่งสินค้าทั้งทางบก เรือ อากาศ บริการท่าเทียบเรือ และบริการนำเข้า-ส่งออกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซัปพลายเชนการขนส่งสินค้าแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมถึงโอกาสในการสร้าง synergy เพิ่มเติมในอนาคต
การทำธุรกรรมควบรวมกิจการดังกล่าว JWD จะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 791,020,363 ล้านหุ้น และเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCGL ที่ราคาหุ้นละ 24.02 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นสามัญทั้งหมดของ SCGL โดยวิธีแลกหุ้น (Share Swap) โดยภายหลังการแลกหุ้นแล้วเสร็จผู้ถือหุ้นเดิมของ SCGL จะเข้ามาถือหุ้นใน JWD ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 43.7 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JWD คาดว่าการทำธุรกรรมการรวมกิจการของ SCGL และ JWD จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2566
ภายหลังการรวมกิจการกับ SCGL แล้ว หลังจากนั้น JWD จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยใช้ตัวย่อ “SJWD” ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะรับโอนกิจการทั้งหมด Entire Business Transfer (EBT) ของ SCGL ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4/2566
ทั้งนี้ ฐานลูกค้าของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทับซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญ SCGL มีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศในอาเซียนจากการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่ม SCC และมีแผนขยายบริการโลจิสติกส์ทางรางและทางอากาศ นอกเหนือจากทางรถและทางเรือ ดังนั้นการรวมกิจการดังกล่าวสามารถสร้างการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าของทั้งสองผ่าย ทำให้ SJWD ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัปพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนทันที
และ 3. ธุรกิจ Smart Living เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย รักษ์โลก ได้แก่ นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อคุณภาพอากาศและประหยัดพลังงาน เช่น SCG Active AIR Quality SCG Bi-ion และ SCG HVAC Air Scrubber โซลูชันจัดการคุณภาพอากาศ กำจัดเชื้อโรค และลดการใช้พลังงานในอาคาร, Wellness Home Hub เทคโนโลยีวัดค่าสุขภาพของผู้อาศัยในบ้าน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลได้ทันที เป็นต้น
ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาส เป็นคำที่กล่าวไว้ไม่ผิด ล่าสุด SCGC ได้ลงทุนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โดยเข้าซื้อหุ้น 70% ในบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ประเทศโปรตุเกส เดินหน้าขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง SCGC GREEN POLYMER ป้อนตลาดยุโรปและแอฟริกา ขณะเดียวกัน SCGP ได้ขยายการลงทุนสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง (Deltalab, S.L.) ประเทศสเปน ส่งออกครอบคลุมตลาดทั่วโลก ทั้งยังขยายกิจการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีความต้องการสูงและตอบเทรนด์รักษ์โลก ได้แก่ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ SCGC ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Denka ประเทศญี่ปุ่น ตั้งโรงงานผลิตอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) กำลังผลิต 11,000 หมื่นตัน/ปี ที่ จ.ระยอง โดยอะเซทิลีนแบล็กใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จไฟได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง นับเป็นการเข้ารุกสู่ธุรกิจ EV Value Chain
ไตรมาส 3/65 ธุรกิจเคมิคอลส์ฉุดกำไรวูบ
หากมองถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า SCC มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 142,391 ล้านบาท ลดลง 7% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลงจากวัฏจักรขาลงของธุรกิจเคมิคอลส์ โดยมี EBITDA เท่ากับ 9,322 ล้านบาท ลดลง 62% จากไตรมาสก่อน และมีกำไรเท่ากับ 2,444 ล้านบาท ลดลง 75% จากไตรมาสก่อน
แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน SCC มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% มาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและธุรกิจแพกเกจจิ้งได้มีการปรับราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามราคาตลาด แต่มี EBITDA ลดลง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวดลดลง 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากมาร์จิ้นธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง
ภาพรวมตลาดในไตรมาส 3/2565 นั้น ตลาดปูนซีเมนต์โดยรวมในประเทศไทยโตขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่ราคาเฉลี่ยปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นช่วงราคา 1,950-2,000 บาทต่อตัน แต่ก็ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องหลังคาและฝาฝ้าขยายตัว 8% ขณะที่ความต้องการใช้กระเบื้องเซรามิกในประเทศเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากความต้องการในงานปรับซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์ในไตรมาส 3/2565 พบว่าอุปสงค์ปิโตรเคมีในตลาดโลกชะลอตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เป็นผลมาจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตรายใหม่ และปัจจัยจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ยังดำเนินต่อเนื่องในประเทศจีน สถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น วิกฤตการขาดแคลนพลังงานในยุโรป และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ในไตรมาส 3 นี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปรับตัวลดลง 13% จากไตรมาสก่อนราว 14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 98 เหรียญสหรัฐต่อบารเ์รล และราคาแนฟทาปรับลดลงจากไตรมาสก่อน 161 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 18% มาอยู่ที่ 714 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นผลจากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตสายโอเลฟินส์ ทำให้ราคาเฉลี่ย HDPE ลดลง 18% มากกว่าราคาแนฟทาที่ลดลง โดยราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน 239 เหรียญสหรัฐต่อตันมาอยู่ที่ 1,104 เหรียญสหรัฐต่อตัน เช่นเดียวกับราคาเฉลี่ย PP ที่ปรับลดลง 249 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 19% มาอยู่ที่ 1,072 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ขณะเดียวกันมีอุปทานส่วนเกินเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างราคาขายสินค้าปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน โดยราคาเฉลี่ย HDPE-แนฟทามาอยู่ที่ 390 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 17% จากไตรมาสก่อน และส่วนต่างราคาเฉลี่ย PP-แนฟทาลดลง 20% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 358 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ส่งผลให้ SCGC ในไตรมาส 3/2565 มีรายได้จากการขาย 57,351 ล้านบาท ลดลง 14% จากไตรมาสก่อนและลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA ขาดทุนอยู่ที่ 954 ล้านบาท ลดลง 10,926 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และลดลง 7,225 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีผลขาดทุนสำหรับงวดเท่ากับ 339 ล้านบาท ลดลง 4,043 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และลดลง 5,549 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากพิจารณาจากงวด 9 เดือนของปี 2565 SCC มีรายได้จากการขาย 447,419 ล้านบาท โตขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด และมี EBITDA ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 51,790 ล้านบาท มีกำไรลดลง 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 21,225 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 /2565 หลังจากราคาพลังงานทรงตัวแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูง เหตุผลหนึ่งคือบรรดาผู้ประกอบการปิโตรเคมีต่างพากันลดกำลังการผลิตลง ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (สเปรด) ปรับตัวดีขึ้นบ้าง หากจีนมีการเปิดเมืองในอนาคตอันใกล้จะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้น
แต่เนื่องจากปี 2566 จะมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่เข้ามาในตลาดมากกว่าการเติบโตของความต้องการใช้เช่นเดียวกับปีนี้ ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่ดีนัก แต่ในปี 2567 กำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลง น่าจะเห็นการพลิกฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งส่งผลดีต่อโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ LSP ในประเทศเวียดนาม ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2566 กอปรกับนโยบายลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตลง รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเป็น 50% ในธุรกิจซีเมนต์ จากการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมือวิกฤตต่างๆ นี้เอง ทำให้ SCC ยังคงเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง