บอร์ด รฟท.เคาะปรับค่างาน "สีแดง" ต่อขยายอีก 2 สาย "ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช" และ "ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต" ลดค่าก่อสร้างได้ 2.05 พันล้าน เหตุตัดงานระบบรถไฟฟ้าให้เอกชน (PPP) ชง ครม.เร่งประมูล
นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 มีมติเห็นชอบผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีการปรับปรุงวงเงินใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้องานเนื่องจากมีการปรับลดค่างานระบบรถไฟฟ้า (Rolling Stock) และจัดหาตัวรถไปอยู่ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง (PPP) และให้เป็นไปตามต้นทุนค่าวัสดุและราคาน้ำมันในปัจจุบัน
โดยสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร มี 3 สถานี มติ ครม.เดิมเมื่อ มี.ค. 2562 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 2,706.56 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 1,997.33 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 10 ล้านบาท, CSC 177.73 ล้านบาท, ICE 40.24 ล้านบาท, ค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้/ขบวนจำนวน 4 ขบวน หรือ 16 ตู้ วงเงิน 1,713.17 ล้านบาท)
กรอบวงเงินปรับใหม่ที่ 4,694.36 ล้านบาท ลดลง 1,950.67 ล้านบาท เนื่องจากตัดค่าจัดหารถไฟฟ้า 16 ตู้ออกตามผลศึกษา PPP ให้เอกชนเดินรถเป็นผู้จัดหา (ค่างานโยธาและระบบราง 2,798.06 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 1,670.94 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC 177.73 ล้านบาท, ICE 40.24 ล้านบาท)
สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มี 6 สถานี มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 3,874.29 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,197.19 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 21.97 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 295 ล้านบาท)
กรอบวงเงินปรับใหม่ที่ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาทเนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 4,055.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 20.04 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท) โดยจะเสนอ ครม.เพื่อทราบเนื่องจากวงเงินอยู่ในกรอบเดิม
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 บอร์ด รฟท.ได้มีมติเห็นชอบผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) จากกรอบวงเงินเดิมที่ 10,202.18 ล้านบาท เป็นวงเงิน 10,670.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 470 ล้านบาทไปแล้ว
หลังจากนี้ จะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินการ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 2. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 3. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่ง 3 เส้นทางดังกล่าวเคยมีมติ ครม.ให้ความเห็นชอบในแต่ละเส้นทางแล้ว แต่เนื่องจาก รฟท.มีการทบทวนราคาค่าก่อสร้างใหม่เนื่องจากต้นทุนค่าวัสดุและราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จึงต้องนำรายงานต่อ ครม.อีกครั้ง