xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมกางแผนเร่ง "รถไฟความเร็วสูง" ปี 66 เปิดไซต์ก่อสร้าง "3 สนามบิน"-เคาะลงทุน "กทม.-พิษณุโลก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ขึงแผนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางปี 66 เร่งสร้างรถไฟไทย-จีน "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" และเปิดไซต์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมสรุปรูปแบบสายเหนือ “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 4 เส้นทาง โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำหนดไว้ในแผนงานที่จะผลักดันในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสายตะวันออก คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  

สำหรับแผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กระทรวงคมนาคมมีการศึกษาแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วง ได้แก่ แผนพัฒนาปัจจุบันจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 1,400 กม. ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. (รถไฟไทย-จีน) วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา ผลงานในภาพรวมคืบหน้าประมาณ 15% โดยคาดการณ์จะแล้วเสร็จในปี 2569

2. เส้นทางกรุงเทพฯ-ระนอง ระยะทาง 420 กม. แบ่งเป็น ช่วงแรกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายสิ่งกีดขวางโครงการและเวนคืนที่ดินเพื่อเริ่มก่อสร้าง 

ช่วงที่ 2 อู่ตะเภา-ระยอง ระยะทางประมาณ 190 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว เตรียมของบประมาณปี 2567 เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และการศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

3. เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 2.12 แสนล้านบาท กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน 

4. เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 2.26 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด

สำหรับแผนพัฒนาระยะต่อไป มี 4 เส้นทางร ระยะทางรวมประมาณ 1,260 กม. ได้แก่ 1. เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนผลการศึกษาเดิม

2. เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 2.32 แสนล้านบาท กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน 

3. เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กม. ของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสม 

4. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กม. ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น