รุดหน้าไม่หยุดยั้ง “ไทยออยล์” พร้อมทรานส์ฟอร์มธุรกิจ สยายปีกสู่ New S-Curve เน้นลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็นเมกะเทรนด์ พร้อมเผยความคืบหน้า..ลงทุนใน Start-up ไปแล้ว 5 บริษัท และ Venture Capital Funds อีก 3 กองทุน
ต้องยอมรับว่าในยุคสมัยที่มีปัจจัยหลายอย่างสามารถก่อให้เกิดความผันผวนได้ตลอดเวลาเช่นในปัจจุบัน การไม่หยุดอยู่กับที่ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการประกอบธุรกิจอยู่เสมอ ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดังนั้น แม้ว่าจะเติบโตต่อเนื่องยาวนานมามากกว่า 60 ปี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือไทยออยล์ ยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยได้มีการเตรียมการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยกลยุทธ์สร้าง New S-Curve รุกสู่ธุรกิจแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพอร์ตธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจหลัก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต
สำหรับทิศทางในการสร้าง New S-Curve ไทยออยล์ได้มีการวางแนวทางไว้ 2 รูปแบบ ทั้ง Step Out Business และ Corporate Venture Capital (CVC) โดยที่ Step Out Business จะมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านการร่วมทุน (Joint Venture : JV) และการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ในธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโตสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นที่ธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นเมกะเทรนด์ 2 ด้าน ประกอบด้วย
1. Bio Technology: ธุรกิจชีวภาพ เช่น โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-Jet), โครงการชีวเคมี (Biochemicals), โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)
2. New Energy and Mobility: ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ การเดินทางและการขนส่ง เช่น โครงการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” ความบริสุทธิ์สูง (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการดักจับ และการใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)
ทั้งหมดนี้ไม่เพียงจะเป็นผลดีต่อไทยออยล์เองในด้านของการเสริมแกร่งให้กับธุรกิจหลัก แต่ในเชิงสังคมก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ทั้งในแง่ของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสะดวกสบายในด้านการเดินทางและขนส่ง
ในส่วนของ Corporate Venture ไทยออยล์ได้จัดตั้งบริษัท ท็อป เว็นเจอร์ส จำกัด (TOP Ventures) เพื่อร่วมลงทุนใน Start-ups ที่น่าสนใจทั่วโลก โดยโฟกัสใน 3 กรอบธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (Sustainability Technology) เทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือก (Hydrocarbon Disruption Technology) และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการผลิต การบริหารจัดการ และเทคโนโลยีภายในโรงกลั่นเพื่อต่อยอดเป็นสินค้าและบริการให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นในอนาคต (Manufacturing Technology) ซึ่งในปัจจุบันไทยออยล์ได้มีการลงทุน Start-up จำนวน 5 บริษัท ได้แก่
• บริษัท UnaBiz ผู้ออกแบบและให้บริการครบวงจรสำหรับผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT)
• บริษัท Versogen ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Anion Exchange Membrane (AEM) สำหรับการผลิต Green Hydrogen
• บริษัท Ground Positioning Radar (GPR) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ
• บริษัท Mineed ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Detachable & Dissolvable Microneedle สำหรับการใช้งานในด้านเครื่องสำอางและยา
• บริษัท Everactive ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ใช้พลังงานต่ำ ไร้สายและแบตเตอรี่
รวมถึงได้เข้าลงทุนใน Venture Capital Funds ระดับโลก จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ Rhapsody Venture Partners (USA), Grove Ventures (Israel) และ Alibaba Entrepreneurs Fund (HK/China) ขณะที่ในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะลงทุนใน Start-up ผ่าน CVC เพิ่มเติมอีกประมาณ 3 บริษัท
นอกจากนั้นแล้ว ไทยออยล์ยังได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งในส่วนของโอกาสในการลงทุนและการทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นก็เพื่อเป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน" พร้อมเติบโตไปสู่การเป็นองค์กร 100 ปี