xs
xsm
sm
md
lg

CWT พร้อมลุยผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป" ปลื้ม! “โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel)” ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ลูกค้าโรงงานขนาดใหญ่-โรงปูนแห่ขอใช้บริการ จ่อคิวจองซื้อเชื้อเพลิง RDF ขณะนี้มีปริมาณพร้อมผลิตพุ่งแตะ 400 ตันต่อวันเรียบร้อย เตรียมแผนยื่นจัดทำ Carbon Credit สร้างรายได้เสริม 

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยถึงโครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน หรือ โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งลงทุนโดยบริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) บริษัทย่อยของ CWT ได้รับกระแสตอบรับที่ดีและมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงงานขนาดใหญ่ โรงปูนต่างๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทำข้อตกลงเพื่อจองปริมาณทั้งหมดที่จะผลิตเป็น RDF ตอนนี้

“เชื้อเพลิง RDF ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้รับความสนใจอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับการจองปริมาณทั้งหมดที่ GP1 จะสามารถผลิต RDF ได้อยู่ที่ประมาณ 180 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะพร้อมผลิต 400 ตัน ทำให้เราเชื่อมั่นว่าตลอดระยะเวลาในสัญญา 25 ปี โครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโครงการเพื่อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอีกช่องทางช่วยสร้างรายได้เสริมอีกด้วย”

เชื้อเพลิง RDF ให้ความสนใจอย่างมากเนื่องมาจากการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF นับเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างมาก เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย COP26 ที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีสมาชิกที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในขณะนี้

นอกจากนี้ โรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนแห่งนี้ยังเป็นการตอบรับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ เพื่อมุ่งสร้างเมืองที่น่าอยู่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องไม่มีขยะเหลือตกค้างที่ต้องนำไปฝังกลบในแต่ละวันอีกต่อไป

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ภายหลังพิธีเปิดหน้าดินเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ได้เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่และเตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ทันที มีการนำเข้าเครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงขยะจาก “BMH Technology” ประเทศฟินแลนด์เข้ามาเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดเดินระบบเพื่อแปรรูปขยะทั้งหมดเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ภายในเดือนสิงหาคมปี 2566 และเตรียมพัฒนาสู่การเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ขนาดไม่เกิน 10.0 MW ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น