xs
xsm
sm
md
lg

พพ. เดินหน้าสองแผนเชิงรุกเข้มข้น "ประหยัด-ทดแทนฟอสซิล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
•ด้านหนึ่งหนุนทุกภาคส่วน รณรงค์ประชาชนปรับ-เปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานทันที
•อีกด้าน เร่งเครื่องแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฟอสซิลทั่วไทย


กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หน่วยงานราชการทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ "แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก" หรือ แผน AEDP ให้สอดรับกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ขณะเดียวกันเพิ่มความเข้มข้น "แผนอนุรักษ์พลังงาน" ให้เกิดการบูรณาการตาม “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan (NEP2022) เพื่อเป็นกรอบแนวทาง ดำเนินนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับแผน AEDP มักจะมีการปรับปรุงตามการทบทวนแผน PDP และมีขั้นตอนการจัดทำ คล้ายกับแผน PDP เมื่อยกร่างแผนเสร็จแล้ว จะต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย จากนั้นนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก่อนประกาศใช้ต่อไป

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 ( AEDP 2018) เป็นฉบับล่าสุด ผ่านการอนุมัติจากครม. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 แผนนี้ภาพรวมยังคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580 และคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 29,411 เมกะวัตต์

ในส่วนนี้ยังแบ่งเป็นโควตารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ รวม 520 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ รวมถึงมีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบ ในปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกะวัตต์

แผน AEDP 2018 มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใน ปี 2580 ดังนี้
พลังงานแสงอาทิตย์ 12,139 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,790 พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวมวล (น้ำเสีย/ของเสีย/พืชพลังงาน) 1,565 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,920เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 308 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์

โดยมี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ ทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อแผน AEDP ฉบับนี้ว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ควรพิจารณาด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่เหมาะสม

จะเห็นว่าแผน AEDP สำคัญมากต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะจะการันตีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามนโยบายของรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี และตลอด 20 ปีข้างหน้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจลงทุนของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า และเกษตรกรว่ายังสามารถวางแผนปลูกพืชพลังงานได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังช่วยประเทศลดการพึ่งพา การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลได้

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เราเดินหน้าตามแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 (NEP2022) เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050 ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย 30@30 การตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% หรือจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในอนาคต รวมทั้งผลักดันนโยบาย 4D1E ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว เปิดเสรีภาคพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งในปีนี้ทางกระทรวงพลังงาน ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบองค์ความรู้และนำเสนอนโยบายที่สำคัญต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางพลังงานของไทยในอนาคต

ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้พลังงานจึงต้องรู้คุณค่า และมีประสิทธิภาพ และจะต้องมีการวางแผน ควบคุมการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีการลดการสูญเสียพลังงานทุกขั้นตอน รวมถึงมีการตรวจสอบและดูแลการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อลดการรั่วไหลของพลังงาน หรือที่เรียกว่า “การอนุรักษ์พลังงาน”

แนวทางในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการใช้พลังงานเชิงอนุรักษ์ การใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และอื่นๆ การเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 หลอดผอมประหยัดไฟ เป็นต้น การเพิ่มประสิทธิภาพเชื้อเพลิง เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทำให้เชื้อเพลิงให้พลังงานได้มากขึ้น การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยการนำวัสดุที่ชำรุดนำมาซ่อมใช้ใหม่ การลดการทิ้งขยะที่ไม่จำเป็นหรือการหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่ (Recycle)

พพ.ยังได้มีการดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม รวมกว่า 9,500 แห่ง จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ปี 64 มีเป้าหมายประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 267 ktoe คิดเป็นเงินจำนวน 6,675 ล้านบาท , จัดทำ e-Service การบริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นคำขอและรับแจ้งผลการพิจารณาได้อย่างสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ทั้งด้านเอกสารที่เป็นกระดาษ การเดินทางมายื่นด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ และลดระยะเวลาดำเนินการ , การเปิดหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับผู้รับผิดชอบด้านพลังงานในกลุ่มโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ยังไม่มีหรือยังมีไม่ครบตามกฎหมายกำหนด

ขณะเดียวกัน พพ. จัดมาตรการช่วยเหลือหน่วยงานราชการให้ลดการใช้พลังงาน 20% ในอาคารราชการเข้าข่ายควบคุมจำนวน 900 แห่ง และอาคารราชการนอกข่ายควบคุม จำนวน 8,062 แห่ง โดยมีมาตรการ อาทิ ด้วยการสนับสนุนให้มีการกระตุ้นเตือน การอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแบบออนไลน์, ให้คำปรึกษาเชิงรุกในการจัดการพลังงาน, จัดตั้งศูนย์ Hotline ให้คำปรึกษาการจัดการพลังงานตามกฎหมาย, สัมมนาชี้แจงการดำเนินมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ, ให้คำแนะนำโดยศูนย์บริการวิชาการทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น

“ภารกิจหลักของ พพ. คือ การกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการใช้ได้อย่างเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ดังนั้นการประหยัดพลังงานเป็นวิธีดีที่สุดในขณะนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีและเห็นผลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตพลังงานไปได้” ดร.ประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ครั้งใหม่ คาดว่าจะประกาศใช้ในปีหน้า เป็นการนำแผนพลังงานชาติ ทั้ง 5 แผนที่มีอยู่ซึ่งประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว ในขณะนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดแผนพลังงานชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย “ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070”


รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2

กิจกรรมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนประหยัดพลังงาน “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” พพ. เข้าไปจัดกิจกรรมทุกภูมิภาค ทั้งภาคกลาง อีสานและใต้ โดยการให้ความรู้ แนะนำการประหยัดพลังงานอย่างง่ายให้กับประชาชน พร้อมชูโครงการฉลากประหยัดพลังงานช่วยประหยัดเงินระดับครัวเรือน

ดีเดย์จัดกิจกรรมอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและ อนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในกิจกรรมเปิดบ้านพลังงาน ประจำปี พ.ศ.2565 และกิจกรรม “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” ณ ศูนย์บริการวิชาการที่ 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในขณะนั้น สงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดขึ้นแล้ว 3 เดือนและมีการประเมินสถานการณ์ว่ามีโอกาสยืดเยื้อและจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานในระยะยาว

ดร.ประเสริฐ บอกว่า รัฐบาลประกาศให้การประหยัดพลังงานเป็นวาระสำคัญของชาติ พพ. เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาท หน้าที่ในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงาน จึงจัดกิจกรรมรณรงค์การประหยัดพลังงาน “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” ร่วมกับกิจกรรม Open House เปิดบ้านพลังงาน ของศูนย์บริการวิชาการที่ 1 จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไปได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

กิจกรรมให้ความรู้ด้านพลังงานและนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานภายในงาน เห็นชัดว่าต้องการกระตุ้นให้ประชาชนนำไปใช้จริง การจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน เช่น วิธี “ประหยัดไฟง่ายๆ ลดค่าไฟ 10%” การใช้รถให้ประหยัดพลังงาน ด้วยเคล็ดลับ “ขับ… อย่างถูกต้อง ประหยัดน้ำมัน” บูธนิทรรศการด้านพลังงานจากกลุ่มวิสาหกิจ องค์กร และผู้ประกอบการต่างๆ เป็นต้น ก็ล้วนเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุน ทุกคนสามารถทำได้ทันที และเห็นผลอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ทุกคนร่วมช่วยลดผลกระทบเรื่องภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“หากประชาชนสามารถพึ่งตนเองโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นนำมาผลิตพลังงานทดแทนได้อย่างเหมาะสม ย่อมก่อให้เกิดการลดรายจ่ายและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน ก็ยิ่งจะส่งผลให้ภาระทางด้านพลังงานโดยรวมของประเทศลดลง”




พพ. เน้นการรณรงค์ประชาชนให้ปรับและเปลี่ยนมาเลือกใช้อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาดประหยัดพลังงานซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานได้มากในทันที 

ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 19 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เตาแก๊ส เตารังสีอินฟราเรด เครื่องทอดน้ำมันท่วม ประเภทวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐมวลเบา กระเบื้องหลังคา ฉนวนใยแก้ว สีทาบ้าน ยังมีเครื่องยนต์การเกษตร และผลิตภัณฑ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้พพ. ส่งเสริมการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงในเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ 19 ผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการมอบฉลากไปแล้ว จำนวน 44,046,788 ใบ เกิดผลประหยัดพลังงาน 870.891 ktoe คิดเป็นมูลค่า 33,146 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น