สนค.เผยเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนเงินบาทอ่อนค่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับขึ้นค่า Ft การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มาก คาดทั้งปีขยายตัวไม่เกิน 6.5% แต่ยังต้องจับตาราคาพลังงาน น้ำท่วม เศรษฐกิจฟื้นจากการส่งออก ท่องเที่ยว ที่จะทำให้มีแรงซื้อเพิ่ม และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน ส.ค. 2565 ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.86% และจากนี้ไปอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง เนื่องจากราคาอาหารโลกเริ่มลดลง ราคาสินค้าในประเทศทยอยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีและขณะนี้เริ่มทรงตัวแล้ว ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าสาธารณูปโภค การตรึงราคาสินค้า การลดราคาสินค้า ได้มีส่วนช่วยชะลอเงินเฟ้อ และฐานของปีก่อนช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 เริ่มอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินเฟ้อช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ไม่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะเพิ่มไม่เกิน 6.5% และอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 -6.5%
ทั้งนี้ การประเมินเงินเฟ้อดังกล่าวได้มีการนำปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทอ่อนค่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน การปรับขึ้นค่า Ft และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มารวมไว้หมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งราคาพลังงานที่ยังผันผวน ทั้งดีเซลและก๊าซธรรมชาติ สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาจทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อ แต่จะเห็นภาพชัดในเดือน ต.ค. รวมทั้งการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ทำให้มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ที่ส่งผลต่อการผลิต การค้า การขนส่ง
นายรณรงค์กล่าวว่า รายละเอียดการวิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยในส่วนของเงินบาทอ่อนค่า พบว่ามีผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำน้อย แต่มีอุตสาหกรรมปลายน้ำมาก เช่น สินค้าเกษตร จึงต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ จึงเป็นต้นทุน ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ได้ศึกษาเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนเดือน ก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.25% กรณีที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยนเดือน ก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.28% และกรณีที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนเดือน ก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.31%
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 พบว่าเอกชนได้เตรียมการรับมือมาแล้ว โดยภาคการผลิตและบริการในภาพรวมมีสัดส่วนการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่สูงนัก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นจากเดิมไม่มากนัก และผู้ประกอบการมีวิธีการบริหารจัดการค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหลายรูปแบบ ทั้งการใช้เครื่องจักร การลดต้นทุน ทำให้ผลกระทบต่อเงินเฟ้อจึงไม่สูงมากนัก แต่ก็ต้องจับตาดูตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 ที่อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นหากมีการปรับค่าแรงในระดับหัวหน้างาน
ส่วนการขึ้นค่า Ft ได้มีการประเมินแล้ว จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.78% แต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดค่า Ft ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ใช้ไฟน้อยไปจนถึงใช้ไฟมาก ทำให้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.25%
ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยรวมเป็น 1% ผลการศึกษาพบว่ามีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.04-0.12% และถ้าต่อไปทยอยปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25-1% สนค.วิเคราะห์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25 เป็น 1.25% จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.08-0.24% ขึ้นเป็น 1.50% ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.12-0.36% ขึ้นเป็น 1.75% ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.16-0.48% และขึ้นเป็น 2.00% กระทบต่อเงินเฟ้อ 0.20-0.80%