กระทรวงอุตสาหกรรมเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.แตะ 99.28 โตเพิ่ม 14.52% อานิสงส์ส่งออกเติบโตต่อเนื่อง และรัฐเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหนุนบริโภคภายในฟื้น ส่งผล 8 เดือนแรกปีนี้ MPI โต 2.72% หนุนทั้งยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ สศอ.จับตาปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศเพียบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ระดับ 63.78% ซึ่งถือเป็นค่าดัชนีและอัตราการใช้กำลังผลิตสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 65
สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัว 2.72% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43% จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า สศอ.ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ภาคการผลิตยังขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปอาจถดถอย การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ฯลฯ ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ ที่จำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดทั้งการขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย