xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกปีนี้โต 0.57% จับตาปัจจัยเสี่ยงยังมีเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.อุตฯ เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) แตะ 101.08 ขยายตัว 0.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังการส่งออกฟื้น มั่นใจอีก 1-2 เดือนข้างหน้ายังโตได้ต่อหลังมีปัจจัยบวกไทยเปิดท่องเที่ยวฟื้นเต็มรูปแบบ ส่งออกยังดี “สศอ.” จับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่ บาทอ่อน น้ำมันวัตถุดิบพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 98.05 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก เม.ย. 7.46% และส่งผลให้ MPI 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 65) อยู่ที่ 101.08 ขยายตัว 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 62.42% 5 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 64.11% เนื่องจากไทยปลดล็อกมาตรการโควิดต่อเนื่องและเริ่มเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหนุนกิจกรรมการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิดทั้งต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

"การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีนทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทาง สศอ.คาดการณ์ว่าการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น โดยจะสามารถขยายตัวอีกครั้งหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญในเดือนหน้า ขณะเดียวกันยังได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือ EWS-IE คำนวณก็พบว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้าจากการปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ" นายสุริยะกล่าว


นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 65 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 2.11% ขณะที่อัตรากำลังการผลิต พ.ค.อยู่ที่ 62.42% ลดลงจากพ.ค. 64 ที่อยู่ระดับ 64.91% เนื่องจากปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเริ่มกลับมามากขึ้นจะส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” นางศิริเพ็ญกล่าว


ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน มิ.ย. และระยะต่อไป ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศแม้จะคลี่คลายแต่ต้องติดตามโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน การอ่อนค่าของเงินบาทแม้จะส่งผลดีต่อการแข่งขันของภาคส่งออก แต่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้นที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีตลาดหลักในประเทศและมีการนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตาม กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs นอกจากนี้ยังกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและจะตัวฉุดรั้งแรงขับเคลื่อนที่มาจากภาคการส่งออกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น