“ส.อ.ท.” ผวาปัญหาขาดแคลนชิป และชิ้นส่วนยังไม่คลี่คลายหลังกระทบการผลิต และการส่งออกในเดือน พ.ค.ลดลง โดยส่งผลให้การส่งออก 5 เดือนแรกลดลงแล้ว 3.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดขายในประเทศ พ.ค.ยังโตต่อเนื่องดัน 5 เดือนแรกโต 16.59% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน จับตาใกล้ชิดหวั่นฉุดเป้าหมายการผลิตปีนี้ที่ตั้งเป้าผลิตไว้ 1.8 ล้านคัน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า พ.ค.ยังมาแรงโตฝ่าน้ำมันแพง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และชิ้นส่วนรถยนต์ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดการผลิต และการส่งออกรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลดลง 7.8% และ 3.2% ตามลำดับ ทำให้กลุ่มฯจำเป็นต้องติดตามปัญหาดังกล่าวใกล้ชิดเนื่องจากยอมรับว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นอาจจะกระทบเป้าหมายการผลิตปี 2565 ที่วางไว้ 1,800,000 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน และส่งออก 1,000,000 คันได้
“แม้ว่าการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือน พ.ค. 65 มีทั้งสิ้น 64,735 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.71% และรวม 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 65) อยู่ที่ 359,351 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.59% จากกิจกรรมต่างๆ ที่ฟื้นตัวทั้งคลายล็อกดาวน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่มีต่อเนื่องและการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นในขณะนี้ที่เรามองว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจะได้เกินเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแรงซื้อประชาชนที่ลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งน้ำมันและราคาสินค้า รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่ม ขณะที่ค่ายรถมีการปรับขึ้นราคารถยนต์บางรุ่นจากต้นทุนที่เพิ่มรวมถึงราคาชิปและชิ้นส่วน และการส่งรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดชิปเหล่านี้ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดอีกระยะหนึ่งก่อนจึงจะทบทวนเป้าหมาย” นายสุรพงษ์กล่าว
สำหรับการผลิตรถยนต์รวม พ.ค. 65 อยู่ที่ 129,231 คัน ลดลง 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะลดลง 23.05% และ 17.84% ตามลำดับ รวมทั้งผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลง 0.31% จากการขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ในบางรุ่นเมื่อรวม 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 65) มีจำนวนทั้งสิ้น 727,095 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.36%
“การผลิตเพื่อส่งออกเดือน พ.ค. 65,839 คัน คิดเป็น 50.95% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% ส่วน 5 เดือนแรกผลิตเพื่อส่งออกได้ 369,660 คัน คิดเป็น 50.84% ลดลงจากช่วงเดียวกัน 10.20% ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ พ.ค. ผลิตได้ 63,392 คัน คิดเป็น 49.05% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.66% และ 5 เดือนแรกปีนี้ 357,435 คัน คิดเป็น 49.16% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 19.67%” นายสุรพงษ์กล่าว
ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 76,937 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.20% ซึ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดเอเชียและยุโรปที่ลดลง และมูลค่าการส่งออกรถยนต์ พ.ค.อยู่ที่ 46,226.52 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.52% ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 375,757 คันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.77% แต่มีมูลค่าการส่งออก 223,872.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1% เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และเมื่อรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ 5 เดือนแรก มีมูลค่า 341,753.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.66%
นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ชัดเจน ประกอบกับราคาน้ำมันที่แพงทำให้ยอดการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่า เดือน พ.ค. 65 มียานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) จดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) จำนวน 1,567 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 189.65% ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทรถยนต์ไฮบริด (HEV) พ.ค. 65 มีทั้งสิ้น 5,362 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 67.77% และยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (PHEV) เดือนพ.ค.จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,056 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 50%