xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดที่ระดับ 36.98 คาดแกว่งในกรอบ 36.85-37.05

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเผย ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.05 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะออกมาดีกว่าคาด เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่พลิกกลับมาขยายตัว +0.3%m/m (จากที่หดตัว -0.4% ในเดือนกรกฎาคม) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 213,000 ราย ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับตอบรับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวในเชิงลบ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดจะต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจจะมองได้ว่าในช่วงนี้ตลาดมองข่าวดีของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยลบ (Good News is Bad News)

โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงกดดันราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Microsoft -2.7% Alphabet -2.0%) นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ยังได้กดดันให้ราคาหุ้นพลังงานปรับตัวลงหนักตามราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงกว่า -3.0% (Exxon Mobil -2.9% Chevron -1.6%) ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.13%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทใกล้ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์นั้น ส่วนใหญ่มาจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เนื่องจากเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก ทำให้เรามองว่าเงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว (คาดว่าจะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรออกมาได้ หากราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 40-50 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ในวันนี้ เนื่องจากหากข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาแย่กว่าคาดอาจกดดันให้บรรยากาศตลาดการเงินฝั่งเอเชียยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ส่วนเงินหยวนอาจอ่อนค่าลงทดสอบแนวต้านจิตวิทยาสำคัญที่ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินหยวนอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน (Correlation เงินหยวนกับเงินบาทสูงกว่า 69%)

แม้เราจะมองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะแนวต้านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่คาดว่าบรรดาผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าทะลุแนวต้านไปได้ หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย ด้วยแรงขายสุทธิใกล้เคียงหรือมากกว่ายอดขายสุทธิในวันก่อนถึง -6.5 พันล้านบาท (ขายหุ้นสุทธิ -4.5 พันล้านบาท และขายบอนด์สุทธิ -2.0 พันล้านบาท)

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.65% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่อเนื่อง (ASML -2.4% Adyen -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงหนักของหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น TotalEnergies -2.4% Equinor -2.1% ตามการปรับตัวลงหนักของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (Santander +3.9% HSBC +2.1%) ที่อาจได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดประเมินว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 4.50% (Terminal Rate) ทว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.45% และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดก่อนหน้าที่ 3.50% ได้ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุมเฟด เพื่อประเมินทิศทางการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่ชัดเจนอีกครั้ง ผ่านคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยหรือ Fed’s Dot Plot ใหม่ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของเฟด ทำให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมไปก่อน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideways ต่อ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 109.7 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เราพบว่าสถานะถือครองเงินดอลลาร์สุทธิ หรือ Net Long positions กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการแข็งค่าทำจุดสูงสุดใหม่ของเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้คาดหวังว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่ากว่าระดับปัจจุบันไปมากนัก อนึ่ง แม้ว่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก แต่ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ นอกจากนี้ เรามองว่าความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่อาจกระทบต่อความต้องการซื้อทองคำในรูปแบบของเครื่องประดับ เป็นอีกปัจจัยที่กลับมากดดันราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง -1.6% สู่ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับสำคัญที่ราคาทองคำสามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ในช่วงการปรับฐานหลายครั้งก่อนหน้า ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ของเดือนกันยายน ซึ่งตลาดคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60 จุด หนุนโดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง (5yr Inflation Expectations) ที่จะเปิดเผยพร้อมรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งหากเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ได้เร่งขึ้นทะลุระดับ 2.9% ไปมาก เฟดอาจไม่ได้จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากขึ้นถึง +1.00% อย่างที่ตลาดกังวล หรือเฟดก็อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องในทุกการประชุมที่เหลือ

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนสิงหาคมจะยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางแรงกดดันจากผลกระทบของการใช้มาตรการ Zero COVID รวมถึงผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานขึ้น โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโตเพียง 3.2%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัว 3.5%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) จะโตชะลอลงเหลือ +5.5%y/y, YTD ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า แม้ภาพเศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงในเดือนสิงหาคม แต่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะยังไม่เร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวน (CNY) ในช่วงที่เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่า +0.75% ในเดือนกันยายน
กำลังโหลดความคิดเห็น