xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.โชว์ผลงานขับเคลื่อน BCG ชู 8 กลุ่มอุตฯ ปรับ ศก.สู่ฐานเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดผลงานรอบปีงบประมาณ 2565 ขับเคลื่อน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตยกระดับพืชเกษตร ตามกรอบ BCG Model มุ่งปรับโครงสร้างภาคการผลิตไปสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม วางเป้าไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค เร่งดันสู่ฮับอาหารอนาคตปี 70 ในอาเซียนติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารโลก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2565 กระทรวงอุตฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และอุตสาหกรรมรายสาขาที่เป็นเป้าหมายในอนาคตที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าพืชเกษตรของไทยควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมที่มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ การขับเคลื่อน BCG ส่วนของเศรษฐกิจชีวภาพ สศอ.ได้ดำเนินการผ่านมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่พาณิชย์ (พ.ศ. 2566-70), โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรม และในปีงบประมาณ 2566 ยังมีโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการ BCG ระดับประเทศ และการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ


นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ยังได้เห็นชอบตามที่ สศอ.เสนอ ได้แก่ 1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) 2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) 3. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ฯลฯ


นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ได้มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรายสาขา 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่าน 4 มาตรการเพื่อพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมุ่งเป็นฮับการผลิตในอาเซียนปี 70 และตั้งเป้าการส่งออกมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาทในปี 70 3. อุตฯ แปรรูปอาหารที่มุ่งก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกและเป็นฮับอาหารอนาคตปี 70 ในอาเซียน

อุตสาหกรรมอนาคต (News S-Curve) ได้แก่ 1. อุตฯ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วางเป้าหมายปี 69 ไทยเป็นผู้นำในการผลิต/การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง 2. อุตฯ เศรษฐกิจชีวภาพ วางเป้าไทยเป็นฮับในอาเซียนปี 70 3. อุตฯ การแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1. โอลีโอเคมีคัลเพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมปาล์ม และ 2.อุตสาหกรรมพืชกัญชง ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2566-2570) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น