ผ่าน 6 เดือนแรกปี 2565 ไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ครึ่งหลัง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอการฟื้นตัว ประกอบกับผลกระทบสงครามยูเครน เกิดวิกฤตราคาพลังงานแบบฉับพลัน การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐต่ำเป้า ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนต้องกระทบไปด้วย “กรมทางหลวง” หรือ ทล. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมากที่สุด อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่เป็นบิ๊กโปรเจกต์ในมือขณะนี้ 7 สายทาง มูลค่าลงทุนรวม 361,607 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ที่อยู่ขั้นตอนเตรียมเปิดประมูลและเตรียมนำเสนออีก 5 สัญญา มูลค่าถึง 7,608 ล้านบาท
การขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในภาวะเศรษฐกิจ งบประมาณ ไม่เอื้อในขณะนี้ ผู้บริหารกรมทางหลวงจะมีแนวคิดอย่างไร เพื่อไม่ให้โครงการต้องสะดุด หรือล่าช้า...
@ “บางปะอิน / บางใหญ่” เร่งก่อสร้างโยธาและระบบ O&M
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างขณะนี้มี 2 สาย คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และจัดเก็บค่าผ่านทางช่วงปลายปี 2567 โดยการดำเนินโครงการมอเตอร์เวย์ M6 และ M 81 นั้น รัฐใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง ความคืบหน้า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 สำหรับสาย M 6 ผลงานคืบหน้า 98% ส่วน สาย M 81 ก่อสร้างคืบหน้า 78%
ส่วนการก่อสร้างงานระบบพร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) นั้น ให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost ทั้ง 2 เส้นทาง วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท ก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน ระยะเวลาบริหาร 30 ปี
โดยได้ลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ไปเมื่อ ก.ย. 2564 และเอกชนได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อ ม.ค. 2565 โดยในช่วงแรกจะเป็นขั้นตอนของการออกแบบ โดยตามแผนงานได้ทยอยส่งมอบพื้นที่บริเวณด่านทั้ง 2 สายให้เอกชนเข้าสำรวจเพื่อออกแบบหมดแล้ว เพื่อให้ ทล.อนุมัติแบบคู่ขนาน ส่วนที่เป็นพื้นที่เส้นทาง M6 ส่งมอบแล้ว 22 สัญญา จากทั้งหมด 40 สัญญา ส่วน M81 ส่งมอบส่วนที่เป็นเส้นทางแล้ว 4 สัญญา จากทั้งหมด 25 สัญญา โดยเอกชนเข้าไปเตรียมพื้นที่ เริ่มก่อสร้างจริงประมาณปลายปี 2565 ซึ่งงานโยธาทุกสัญญาจะก่อสร้างเสร็จพร้อมส่งมอบให้ดำเนินการ O&M ได้
รูปแบบ PPP Gross Cost ในงาน O&M ของ M6 และ M81 นั้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ บริหาร บำรุงรักษา จัดเก็บรายได้ให้รัฐ โดยเอกชนจะได้รับคืนส่วนที่ลงทุนไป และค่าจ้างในการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐานเป็นเกณฑ์ประเมิน
@ จ่อเปิดลงทุนระบบ O&M มอเตอร์เวย์ "บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว"
สำหรับการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทางรวมประมาณ 25 กม.นั้น การก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10.564 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท ใช้งบประมาณแผ่นดิน ปัจจุบันมีความคืบหน้าก่อสร้างแล้ว 67.44% เป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2566
2. ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 19,700 ล้านบาท จะใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) แบ่งประมูล 10 สัญญา ซึ่งได้ผู้รับจ้างครบทั้ง 10 สัญญาแล้วอยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันผลงานคืบหน้า 0.71% ตามแผนงานจะแล้วเสร็จปี 2567
ส่วนระบบ O&M ตลอดสาย 25 กม. จะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ รูปแบบ PPP Gross Cost โดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมแล้ว ปัจจุบันเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 2565 จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนจัดทำเงื่อนไขร่างข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) คาดเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2566 ลงนามสัญญาช่วงปลายปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 2567-2568 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
รูปแบบการลงทุนระบบ O&M ของสาย M82 นี้จะเป็นโมเดลเดียวกับสาย M6 และ M81 คือ PPP Gross Cost ที่ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ บริหาร บำรุงรักษา จัดเก็บรายได้ให้รัฐ ส่วนเอกชนได้รับเป็นค่าจ้างดำเนินงาน ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐานในการกำกับสัญญา ถือเป็นครั้งแรกในการใช้ PPP Gross Cost กับงานระบบ O&M เพราะที่ผ่านมาเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด) และสาย 9 (วงแหวนตะวันออก) นั้น กรมทางหลวงใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ในการซ่อมบำรุง และบริหารการจัดเก็บค่าผ่านทางรายได้เข้ากองทุน โดยได้นำต้นทุนกรณีที่ทำเอง ศึกษาประเมินเปรียบเทียบกับรูปแบบ PPP จ้างเอกชนบริหารระบบ O&M พบว่าทำให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลง จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม
@ ลุ้นประมูลก่อสร้างสาย M7 เชื่อม "อู่ตะเภา" ปลายปีนี้
ตามมาด้วยมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท เป็นเส้นทางล่าสุดที่ ครม.เพิ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ซึ่งเส้นทางนี้มีลักษณะเป็นส่วนเชื่อมต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา รองรับเมืองการบิน ระยะทางสั้น จึงไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางแต่อย่างใด โดยรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ต่างประเทศมาดำเนินการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 108 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างได้ปลายปี 2565-ต้นปี 2566
@ ชงบอร์ด PPP เคาะ "บางขุนเทียน-บางบัวทอง" เอกชนลงทุน 100% สายแรก
ตามไทม์ไลน์ยังมีมอเตอร์เวย์อีก 2 สายที่ศึกษาการลงทุนโครงการเสร็จแล้ว โดยเตรียมเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน คือ โครงการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 9 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบังทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท โดยเรื่องอยู่ที่ สคร.เพื่อเตรียมเสนอบอร์ด PPP เห็นชอบ และเสนอ ครม.ตามขั้นตอน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2566
มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บางบัวทอง จะใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก ซึ่งเป็นไปตามการศึกษาที่พบว่า มีความคุ้มค่าที่เอกชนจะลงทุน 100% ทั้งก่อสร้างงานโยธาและระบบ O&M ซึ่งจะเป็นการลดภาระการลงทุนภาครัฐได้อย่างมากแล้ว ยังลดความเสี่ยงของรัฐได้อีกด้วย และหากโครงการมีรายได้ดี รัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มไปด้วย
"จุดเด่นมอเตอร์เวย์ M9 คือโครงข่ายจะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์อีก 2 สายทาง คือ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่การศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่า"
อีกโครงการ คือ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. มูลค่าโครงการ 27,743 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม เป้าหมายเปิดประมูลภายในปี 2566 โดยโครงการนี้ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Gross Cost คือให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา บวกติดตั้งระบบ O&M และรับจ้างบริหารโครงการ โดยรัฐจ่ายคืนค่าลงทุนส่วนของงานโยธาและค่าลงทุนระบบ O&M และค่าจ้างงาน O&M ซึ่งในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์จ่ายคืนเอกชน โดยจะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว
ที่กำหนดรูปแบบการจ่ายคืนค่าก่อสร้างแบบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันมีภาระในการจ่ายค่าก่อสร้างงานโยธา สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว (M82) อยู่ ประเมินว่าสายนี้จะสร้างเสร็จปี 2567 ซึ่งจะสามารถบริหารสถานะกองทุนได้คล่องตัว
@"นครปฐม-ชะอำ" ทบทวนปรับแบบ แบ่งเฟส เร่งสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อก่อน
ส่วนมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท เดิมบอร์ด PPP อนุมัติแล้ว ลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost แต่เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรีคัดค้านการก่อสร้าง จึงต้องทบทวนผลการศึกษาโครงการใหม่ โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะดำเนินการช่วงนครปฐม-ปากท่อก่อน โดยมีการปรับปรุงแบบ ทบทวนค่าก่อสร้างและรูปแบบการลงทุน คาดว่าจะทบทวนเสร็จในปี 2565 เบื้องต้นประเมินว่าค่าลงทุนโครงการจะปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก ปูน เป็นต้น
ประเมินแล้วรูปแบบการลงทุนใหม่คาดว่าจะเป็นโมเดลเดียวกับ M6 และ M81 โดยรัฐลงทุนงานโยธา และ PPP ให้เอกชนลงทุนในส่วนของงานระบบ O&M ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการเพิ่มโครงข่ายลงสู่ภาคใต้ โดยสามารถเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายเอกชัย-บ้านแพ้วได้ โดยในการลงทุนจะผลักดันในเฟสแรก ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย
@ได้เวลาบูม "ที่พักริมทาง" ไฮไลต์มอเตอร์เวย์ 5 โครงการจัดแถวเปิดประมูล
สำหรับการดำเนินโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์นั้น ในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนที่ในแผนขณะนี้มี 5 โครงการ โดยในปี 2565 จะเริ่มคิกออฟที่ M7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) กม.93+750 มูลค่า 2,929 ล้านบาท และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) กม.137+800 มูลค่า 1,317 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด PPP เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไขร่างข้อเสนอ ( RFP) คาดเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปลายปี 2565 ลงนามสัญญาไตรมาส 3/2566 ก่อสร้างโครงการ 2566-2567 เปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2567
สำหรับ Rest Area มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 2 โครงการ และบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 1 โครงการ นั้น กระทรวงคมนาคมเห็นชอบรูปแบบโครงการและเสนอไปยัง สคร.แล้ว คาดว่าจะเสนอบอร์ด PPP อนุมัติในเดือน ก.ค. 2565 นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 จัดทำ RFP และเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในต้นปี 2566 ลงนามสัญญาช่วงปลายปี 2566 และเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำ ภายในปี 2567 รองรับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 เต็มรูปแบบ
โครงการ Rest Area มอเตอร์เวย์จะลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการทั้งหมด โดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและปรับระดับที่ดินของโครงการ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการ ระยะเวลาของโครงการ 32 ปี ( ออกแบบก่อสร้าง 2 ปี บริหารจัดการ 30 ปี ) โดย ทล.จะได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตลอดอายุสัญญา
“การพัฒนา Rest Area แม้สเกลการลงทุนจะไม่สูง แต่เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าและสร้างแรงจูงใจเอกชน จึงได้กำหนดให้มีโมเดลลักษณะพิเศษ ที่ให้ก่อสร้างอาคารคร่อมทั้งสองฝั่งถนนเป็นการเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านบนอาคาร ขณะที่ด้านล่างจะมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น เพิ่มความสะดวก และเป็นไฮไลต์ที่เพิ่มแรงจูงใจเอกชน จากการมีพื้นที่เพิ่มขึ้นสร้างความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่ง M7 จะมีทั้งที่ศรีราชา และบางละมุง เพราะตำแหน่ง Rest Area สองฝั่งอยู่ตรงข้ามกัน โดย Rest Area โมเดลนี้จะมีอยู่ในทุกเส้นทาง”
เชื่อว่า Rest Area ลอยฟ้าจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ จุดเช็กอินใหม่แน่นอน เพราะนอกจากเป็นจุดพักรถที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน เช่น สถานีบริการน้ำมัน สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (EV charger) มีร้านค้า ร้านอาหาร และต้องจัดพื้นที่สินค้าโอทอปให้ชุมชน รวมไปถึงบางจุดอาจจะมีโรงแรมขนาดเล็กอีกด้วย
@ผ่าวิชั่น "กรมทางหลวง" ยกระดับมาตรฐานทางหลวงสายหลัก-ลงทุน "มอเตอร์เวย์" เน้นโมเดล PPP ลดภาระรัฐ
“สราวุธ ทรงศิวิไล” ระบุว่า ภารกิจของกรมทางหลวงคือการก่อสร้างบูรณะถนนสายหลัก ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณปี 2566 มีแนวคิดในการบริหารเพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะเน้นไปที่การยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกของเส้นทางสายหลัก ที่เป็นทางหลวงแผ่นดินเชื่อมระหว่างภูมิภาคให้มีมาตรฐาน Class A มีความปลอดภัยสูง ยกระดับทางเชื่อมจุดตัด หรือเรียกว่าเป็น "มินิมอเตอร์เวย์" แต่ให้ประชาชนวิ่งฟรี
และยังคงต้องเดินหน้าพัฒนามอเตอร์เวย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยมีแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ปี 2560 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,612 กม. ต่อมาปี 2563 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางในพื้นที่เดียวกัน (MR-MAP) ซึ่งเป็นโครงข่ายมอเตอร์เวย์คู่ระบบราง จำนวน 10 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางมอเตอร์เวย์หลักยังเป็นไปตามแผนแม่บทปี 2560
“นโยบาย MR-MAP คือปรับการลงทุนให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด ลดผลกระทบเวนคืนต่อประชาชน เปิดพื้นที่ใหม่ ตัดเส้นทางให้ตรงที่สุด เลี่ยงเขตเมือง แก้ปัญหาจราจรติดขัด และวางเส้นทางผ่านจุดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ขนส่งสินค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อรองรับและเพิ่มศักยภาพการขนส่งของประเทศ”
แต่เป็นที่ทราบกันว่า การพัฒนามอเตอร์เวย์จะใช้เงินลงทุนสูงมาก ในขณะที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรมฯ ต้องหารูปแบบการลงทุนที่มีความหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการศึกษาในแต่ละเส้นทางว่าจะเหมาะสมกับการลงทุนรูปแบบใด ซึ่งกรมทางหลวงมีทั้งกองทุนมอเตอร์เวย์ใช้ก่อสร้างงานโยธา หรือใช้ PPP ร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งก็มีทั้งที่รัฐร่วมลงทุนเฉพาะงานโยธา หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100%
“ผมมองว่าการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศ และสนับสนุนด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นส่วนสำคัญ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แนวทางการลงทุนจะมุ่งไปที่การร่วมลงทุนเอกชน PPP ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบ PPP Net หรือ PPP Gross ซึ่งในแต่ละโครงการจะใช้รูปแบบใดขึ้นกับการศึกษา ประเมิน วิเคราะห์ผลตอบแทน ความคุ้มค่า และหากในอนาคต ทั้งรัฐบาลและเอกชนไทยไม่สามารถลงทุนได้ เชื่อว่ายังมีรูปแบบการลงทุนอื่นๆ อีก เช่น โรดโชว์ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่มีภาระ ในขณะที่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการใช้เส้นทาง โดยสามารถจ่ายค่าผ่านทางได้ในอัตราที่เหมาะสม”