xs
xsm
sm
md
lg

เบรก MRT ขึ้นค่าโดยสาร! คมนาคมขอความร่วมมือตรึงราคาเดิม 17-42 บาท ถึง 31 ธ.ค. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” หารือ BEM ขอความร่วมมือตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินอัตรา 17-42 บาทถึง 31 ธ.ค. 65 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน "ศักดิ์สยาม" เผยไม่มีการชดเชยใดๆ ให้เอกชน ยอมรับจำนวนผู้โดยสารปัจจุบันยังไม่ฟื้นและยังน้อยกว่าคาดการณ์ ส่วนจะขยายการตรึงราคาอีกหลังสิ้นปีขอดูสถานการณ์อีกที

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการประชุม เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 ถึง 42 บาท เป็น 17 ถึง 43 บาท โดยเพิ่มขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินนั้น เป็นการดำเนินการตามสัญญาที่ได้ลงนามเมื่อปี 2543 และได้มีการรวมสัญญากับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินเมื่อปี 2560 โดยมีการปรับอัตราค่าโดยสารมาแล้ว 9 ครั้ง ซึ่งการปรับค่าโดยสารครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้สัญญาที่ครบกำหนด 24 เดือน ตามดัชนีราคาผู้บริโภค โดยจะปรับค่าโดยสาร 1 บาท จำนวน 4 สถานี ซึ่งการหารือกับเอกชน ที่ปัจจุบันมีสถานการณ์ราคาพลังงาน จึงได้ให้เอกชนพิจารณาแนวทางแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยเอกชนให้ความร่วมมือในการตรึงอัตราค่าโดยสารเดิมเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท พร้อมส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ถือว่าเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมาหลายครั้ง ตั้งแต่การปรับค่าผ่านทางด่วน สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ที่มีการออกคูปองราคาเดิมโดยเอกชนไม่ได้ขอรับการชดเชยใดๆ จากภาครัฐ ส่วนจะมีการขยายการตรึงอัตราค่าโดยสารเดิมออกไปอีกหรือไม่ ขอให้รอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้หากพิจารณาจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ที่ระดับ 3 แสนกว่าคน/วัน ซึ่งหากดูจากผลการศึกษากรณีไม่มีเรื่องโควิด จะต้องมีผู้โดยสารที่ 4-5 แสนคน/วัน ซึ่งเอกชนให้ความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ซึ่งหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ยกเลิก Thailand Pass แล้วว่าสถิติการเดินทางเข้าประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งในรอบเดือน มิ.ย. 2565 สนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 6 แห่ง มีจำนวนผู้โดยสารรวมถึง 6 แสนคน เฉลี่ยประมาณ 20,000-30,000 คน/วัน และมีแนวโน้มในการเดินทางเชิงบวก เชื่อว่าในช่วงไฮซีซันจะมีการเดินทางมากขึ้นแน่นอน

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการเป็นเจ้าภาพ โดยให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหารือกับสมาคมโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ในการร่วมมือกันทำแพกเกจ โปรโมชันสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อเป็นแรงจูงใจมากขึ้นในด้านการบริการที่มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม ซึ่งเชื่อว่าในปี 2565 น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากกว่า 10 ล้านคนแน่นอน










กำลังโหลดความคิดเห็น