xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเหตุ "เลขาฯ ครม." ตีกลับโอน 3 สนามบินให้ ทอท. หวั่นกระทบแผนแม่บทลงทุนซ้ำซ้อน-มท.ติงศึกษาไม่ครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเหตุตีกลับโอนสนามบินของ ทย.ให้ ทอท. “มหาดไทย” ติงศึกษาผลกระทบไม่ครบถ้วน แนะฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ทำตามขั้นตอน ระเบียบและกฎหมาย "เลขาฯ ครม." แจ้งคมนาคมทำข้อมูลเพิ่ม เหตุเปลี่ยนสนามบินและรายละเอียดทางการเงิน ด้านเอกชนอุดรฯ ค้านหวั่น ทอท.ผูกขาด แนะประมูล เลือกผู้เสนอประโยชน์ "รัฐ-ปชช." สูงสุด
 
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนวทางการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ปรากฏว่ายังมีข้อมูลไม่ชัดเจนในหลายประเด็น ประกอบกับมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ขอให้กระทรวงคมนาคมศึกษาข้อมูลและผลกระทบให้รอบคอบก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอว่าการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคโดยมีแนวทางการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ควรมีการศึกษาผลกระทบและแนวทางการบริหารและการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งให้มีความชัดเจน และการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นจากผู้แทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศสูงสุด ก่อนที่จะดำเนินการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานดังกล่าว โดยขอให้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง   

ซึ่งทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องดังกล่าวยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. จึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 เพื่อให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ดังนี้  

1. เดิมได้มีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 กำหนดให้โอนท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานตาก และท่าอากาศยานชุมพร ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ได้ปรับลดและเปลี่ยนแปลงท่าอากาศยานเหลือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ จึงขอทราบว่าการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงคมนาคมและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบและครบถ้วนในทุกมิติแล้วหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในการกำหนดกลุ่มท่าอากาศยานตามแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และความชัดเจนของหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาและบริหารจัดการท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศและไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการลงทุนในอนาคต 

2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 รับทราบรายงานผลการพิจารณาแผนระดับที่ 3 (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยครอบคลุมถึงแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นสมควรให้ทบทวนหรือปรับปรุงแผนดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จึงขอทราบความคืบหน้าในการปรับปรุงแผนดังกล่าว รวมทั้งขอทราบด้วยว่าข้อเสนอในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับแผนดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ อย่างไร 

3. จากเอกสารสรุปแนวทางเลือกในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาในครั้งนี้ ระบุว่า "กรมท่าอากาศยานมีรายได้ลดลงซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินกิจการท่าอากาศยานที่เหลือของกรมท่าอากาศยาน" จึงขอทราบว่า

(1)  การวิเคราะห์แนวโน้มฐานะทางการเงินและผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และค่าใช้จ่ายของกรมท่าอากาศยาน (2) สถานะและผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน (3) แนวโน้มประมาณการการขอรับเงินอุดหนุน (ภาระงบประมาณ) ในระยะต่อไป และ (4) ความคืบหน้าของการดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานที่เหลืออยู่แต่ละแห่งพร้อมเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในข้อ 1 ที่ให้กรมท่าอากาศยานเร่งจัดทำแผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานที่เหลืออยู่แต่ละแห่งให้เหมาะสมและชัดเจน  

@เอกชนอุดรฯ ค้านยกให้ ทอท. แนะประมูลแข่งขัน เลือกผู้เสนอที่รัฐ-ปชช.ได้ประโยชน์ที่สุด

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ให้ความเห็นว่า การที่ให้ ทอท.บริหารสนามบินอุดรธานี ต้องมองว่าปัจจุบัน ทอท.คือบริษัทจำกัดมหาชน เป็นเอกชน ที่ต้องสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้น จึงไม่เห็นด้วยกับการโอนหรือยกสนามบินอุดรธานีให้ ทอท.ไปง่ายๆ และเป็นการผูกขาด ซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานมีการลงทุนพัฒนาปรับปรุงและจัดหาเครื่องมือต่างๆ ไปจำนวนมากแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นกังวลว่าค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

ดังนั้นหากต้องการพัฒนาสนามบินภูมิภาคให้ทันสมัย ควรเปิดให้มีการแข่งขัน ให้ผู้มีความสามารถเป็นมือเสนอตัวมาแข่งขันกัน เพื่อเลือกผู้ที่มีแผนพัฒนามีข้อเสนอดีที่สุด ให้ผลตอบแทนแก่รัฐดี และเสนอผลประโยชน์ การบริการ ให้ประชาชนได้ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่ามีเอกชนหลายรายที่สนใจ ทั้ง ทอท. บางกอกแอร์เวย์ส หรือการบินไทย ส่วน ทย.เองสามารถปรับระบบบริหารให้มีความคล่องตัวและเสนอตัวแข่งขันด้วยก็ได้

“ควรพัฒนาสนามบินอุดรธานีให้เป็นสนามบินนานาชาติแถวหน้า และเมื่อมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว-จีน ต้องเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ซึ่งอนาคตสนามบินภูมิภาคจะมีมูลค่าเพิ่ม เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มสนามบินหลักรองรับไม่ไหว ต้องกระจายผู้โดยสาร นอกจากนี้ สนามบินอุดรฯ ควรมีการพัฒนาด้านเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น รวมถึงขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถจาก 3 ล้านคน/ปี เป็น 5-6 ล้านคน/ปี ซึ่งคาดลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเคยมีการเสนอ ครม.สัญจรไปแล้ว”




กำลังโหลดความคิดเห็น