xs
xsm
sm
md
lg

"ชัชชาติ" รับข้อเสนอสภาองค์กรผู้บริโภค ปมค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เผยยังไม่เคาะราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับ 5 ข้อเสนอจากสภาองค์กรของผู้บริโภค มุ่งพิจารณากำหนดราคาสายสีเขียวให้สมดุลทั้งคนใช้บริการและไม่ใช้ จ่อทำรายละเอียดแจง หากเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 44 และ 59 บาท พร้อมทำราคาเปรียบเทียบสายอื่น

วันนี้ (29 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหารือการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานยุทธศาสตร์ และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม แวนด้า 4 ชั้น 2 โรงแรมรามาการ์เดน เขตหลักสี่

ในการนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณา 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ยกเลิกกำหนดราคาตลอดสาย 59 บาท ที่จะทำให้เกิดเพดานราคาสูงสุด ที่จะทำให้ราคารถไฟฟ้าไม่สามารถให้ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งอาจส่งผลการเข้าถึงการรับบริการของผู้บริโภค แต่เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารจากคูคตเข้ามาในราคา 15 บาท 2.ขอให้ กทม. ใช้ราคา 44 บาทตลอดสาย เพื่อคุ้มครองบริษัทบีทีเอสด้วย โดยราคารวมตลอดสายรวมส่วนขยายทั้ง 2 ฝั่งไม่ควรเกิน 44 บาท เพื่อเป็นต้นแบบให้สายอื่นๆ ให้รถไฟฟ้าเป็นมิตรทุกคนสามารถขึ้นได้ 3.เสนอให้ดำเนินการเอาตั๋วเดือนกลับคืนมา 4.เรื่องการเปิดเผยและแก้ไขสัญญาที่เกินเลยปี 2585 จากสัญญาสัปทานเดิมจะหมดในปี 2572 แต่มีการจ้างเดินรถเกินเลยสัญญาสัมปทานหลักไปถึงปี 2585 ขอให้ผู้ว่าฯ หาทางแก้ปัญหาส่วนนี้ หากยกเลิกสัญญาเดินรถส่วนที่เกินเลยจากสัญญาสัมปทานได้ก็จะมีโอกาสให้การดำเนินการหลังหมดสัญญาสัมปทาน จะทำให้ผู้บริโภคได้ราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคสนับสนุนกรุงเทพมหานครไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถ หรือทำสัญญาร่วมทุน(PPP) กับเอกชน โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถ และสัญญาหาประโยชน์ พร้อมเสนอว่า หลังหมดสัญญาสัมปทาน ให้ใช้ราคา 25 บาท ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคเรามั่นใจว่าทำได้จริง โดยราคาที่ใช้ก่อนหมดสัญญาก็ขอให้คุ้มครองบริษัทบีทีเอสโดยใช้ราคา 44 บาท และ5.เปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของกทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอทั้งหมดสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณาแล้ว โดยในประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวลเรื่องราคา 59 กับ 44 บาท เป็นช่วงที่อยู่ในระยะสั้นก่อนหมดสัญญาสัมปทาน แต่ยังมีส่วนต่อขยายอีก 2 ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร ส่วนราคาตรงกลางคือ 44 บาท สูงสุดอยู่แล้ว ซึ่งต้องคำนวนตัวเลขดูว่ากรอบ 44 บาท หรือ 59 บาท ทางกทม.ต้องชดเชยเงินเท่าไร เพราะหากกำหนดให้ 44 บาทสูงสุด ก็คือวงเงินส่วนตรงกลางที่เอกชนได้สัมปทานอยู่ ถ้าวิ่งออกมาที่ส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย กทม.ก็จะไม่ได้เงินเลย เพราะกำหนดสูงสุดไว้ที่ 44 บาท จึงต้องคำนวนตัวเลขมาให้เปรียบเทียบกับสายอื่น ซึ่งต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าไร ส่วนเรื่องที่เสนอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมารวมถึงตั๋วนักเรียนต้องไปเจรจากับทางบีทีเอสต่อไป

สำหรับการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 - 2585 มีข้อหนึ่งในสัญญาห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ซึ่งต้องไปดูว่า กทม.มีสิทธิจะเปิดเผยหรือไม่ ขณะนี้ได้สัญญามาแล้ว ต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้กำหนดสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานของ กทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท ต้องไปดูรายละเอียดเช่นกัน โดยปัญหาหลักที่ค้ำอยู่คือการจ้างเดินรถปี 72 - 85 ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้ามานานแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่สูงประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งกำลังหาทางดำเนินการอยู่

“ต้องขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ทำให้เรามีจุดได้คุยกับตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้บีทีเอส ก็ต้องดูให้สมดุล เราไม่สามารถนำเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอสมาจ่ายให้กับคนที่ใช้บีทีเอสได้ ซึ่งจะต้องไปเรียนให้สภา กทม. ทราบด้วยว่า สุดท้ายแล้วถ้าเราใช้ราคา 44 บาท กทม.ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไร เงินส่วนนี้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้ ภายในสัปดาห์หน้า ทางกรุงเทพธนาคม (เคที) น่าจะมีข้อสรุป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว


















กำลังโหลดความคิดเห็น