xs
xsm
sm
md
lg

พุทธมณฑล สาย 4 ที่จะไม่มีทางตันอีกต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ถนนพุทธมณฑล สาย 4 จากถนนเพชรเกษม ถึงริมทางรถไฟสายใต้ ก่อสร้างเมื่อใดไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่คาดว่าสร้างพร้อมกับโครงการจัดตั้งพุทธมณฑลเพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ และถนนพุทธมณฑล 7 เส้นทาง

เดิมคือทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3310 แยกทางหลวงหมายเลข 4 (หนองแขม-พุทธมณฑล) แยกจากถนนเพชรเกษม บริเวณ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรงดิ่งไปสิ้นสุดที่ริมทางรถไฟสายใต้ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ปี พ.ศ. 2517 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โอนที่ดินกว่า 1,240 ไร่ ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เมื่อมีถนนพุทธมณฑล สาย 4 จากทำเลที่เคยเป็นทุ่งนาก็ค่อยๆ เจริญมากขึ้น

ครั้งหนึ่ง ทางการได้ก่อสร้างถนนที่ใช้ชื่อว่า “ถนนอักษะ” เชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑล สาย 3 กับถนนพุทธมณฑล สาย 4 เปิดให้สัญจรเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2542 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อพระราชทานเป็น “ถนนอุทยาน”

เคยได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพราะตรงดิ่งไปยังสามแยกที่มี “พระศรีศากยะทศพลญาณ” อยู่ตรงหน้า มีเสาไฟรูปหงส์เรียงรายสองข้างทาง มากถึง 979 ต้น และคูน้ำคั่นกลางที่มีน้ำพุเล่นระดับ

ถนนพุทธมณฑล สาย 4 และถนนอุทยาน รวมทั้งถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เคยเป็นจุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยบรรดาสารพัดรถกระบะ แต่หลังจากปี 2556 เป็นต้นมาถูกทางการสั่งห้ามเล่นน้ำอย่างเข้มงวด

กลายเป็นการ “ปิดตำนาน” สงกรานต์พุทธมณฑล สาย 4 อย่างถาวร!

มาถึงปี พ.ศ. 2547 กรมทางหลวงชนบทเปิดใช้งานถนนลาดยางสาย ง 1 ผังเมืองรวมเมืองกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นถนนเพชรเกษมตัดกับถนนพุทธมณฑล สาย 4 ไปออกถนนเศรษฐกิจ 1 บริเวณทางโค้งที่เรียกว่า “หัวคู้”

สมัยนั้นเป็นถนน 4 ช่องจราจร ตั้งชื่อว่า ถนนพุทธสาคร ก่อสร้างสะพานข้ามถนนเพชรเกษม และสะพานกลับรถอีก 2 จุด เรียกว่า แยกสาครเกษม พร้อมกับยกเลิกสัญญาณไฟจราจร แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2550

อย่างไรก็ตาม เมื่อการจราจรหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ขยายถนนพุทธสาครออกเป็น 8 ช่องจราจร ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2558 นับจากนั้นจากสองข้างทางเป็นทุ่งนา กลายเป็นบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์

ถนนเศรษฐกิจ 1 จากเทศบาลนครสมุทรสาคร ต่อเนื่องกับถนนพุทธสาคร และถนนพุทธมณฑล สาย 4 กลายเป็นโครงข่ายคมนาคม เชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 2 ถนนเพชรเกษม และถนนบรมราชชนนี

ภาพจากวีดีทัศน์โครงการ
ข้อมูลจากกรมทางหลวง ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2564 ถนนเศรษฐกิจ 1 (อ้อมน้อย-สมุทรสาคร) มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 24,166 คันต่อวัน และถนนพุทธมณฑล สาย 4 (กระทุ่มล้ม-พุทธมณฑล) เฉลี่ย 66,364 คันต่อวัน

แม้ว่าจะมีปริมาณการจราจรลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ปัจจุบันช่วงกลางวัน ถนนเศรษฐกิจ 1 และถนนพุทธมณฑล สาย 4 มีการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน

โดยเฉพาะบริเวณ ทางแยกต่างระดับศาลายา ทิศทางเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปยังพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี มีลักษณะเป็นคอขวด เพิ่งจะขยายช่องจราจรบริเวณกลางสะพานถึงทางลงสะพานแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้

ถึงกระนั้น เมื่อตรงไปทางมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ถึงแยกหอนาฬิกาศาลายา ถนนศาลายา-พุทธมณฑล ไปแล้ว จะเป็นทางตันที่มีทางรถไฟสายใต้อยู่ตรงหน้า โดยจะบังคับให้กลับรถไปตามเส้นทางเดิม

ก่อนหน้านี้เพิ่งเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุก 18 ล้อเบรกแตก พุ่งข้ามไปบนทางรถไฟสายใต้ ผลก็คือรถไฟขบวนที่จะไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องรอนานหลายชั่วโมง กว่าจะยกรถบรรทุกพ่วงออกจากทางรถไฟ เดินรถตามปกติก็ประมาณตีสี่ 

เคยคิดอยู่เลยว่า ในอนาคตทางการจะมีการตัดถนนใหม่ต่อไปอีกหรือไม่? เพราะห่างออกไปอีกไม่ไกลนัก กรมทางหลวงชนบทก็มี ถนนศาลายา-บางภาษี ไปออกถนนปทุมธานี-บางเลน (ทางหลวงหมายเลข 346)

ภาพจากวีดีทัศน์โครงการ
ล่าสุด กรมทางหลวงจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี)

ลักษณะจะเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร ผ่านทางรถไฟสายใต้ ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ คลองนราภิรมย์ ผ่านทางหลวงชนบท นบ.1011 (บริเวณเทศบาลตำบลศาลากลาง) นบ.5014 ข้ามคลองบางใหญ่ ถนน นบ.1009

จากนั้นจะเข้าเขตมอเตอร์เวย์ แบ่งเป็นขาเข้า 3 ช่องจราจร ขาออก 4 ช่องจราจร และทางบริการ 2 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทางรวม 6.5 กิโลเมตร

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ยังไม่เปิดเผยแนวเส้นทางที่แน่นอนออกมา แต่ก็พอจะมองเห็นว่า ในอนาคตทางรถไฟสายใต้ และรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีศาลายาจะเป็นทางยกระดับทั้งหมด

ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟศาลายา เพื่อพัฒนาในลักษณะพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน (TOD) ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ผู้เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบ ทั้งด้านความชัดเจนในการเวนคืนที่ดิน การทำทางลอดบริเวณที่มีรถทางการเกษตรสัญจรอยู่ รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแสงสว่างของรถยนต์ที่วิ่งผ่านทุ่งนา

ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงเคยศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการถนนวงแหวนกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก (พระรามที่ 2-บางปะอิน) มาก่อน

โดยพบว่าแนวเส้นทางวงแหวนรอบ 3 ช่วงถนนพุทธมณฑล สาย 5 จะเป็นทางยกระดับขนานเกาะกลาง ก่อนข้ามทางรถไฟ และผ่านมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี มุ่งหน้าไปยังปลายทางบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ปรากฏว่า ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จปี 2562 แต่พอเสนอของบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียด กลับไม่ได้รับการพิจารณาในปีงบประมาณ 2563 และยังไม่มีความชัดเจนมาถึงปัจจุบัน


อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ กรมทางหลวงชนบท กำลังดำเนินโครงการสำรวจออกแบบถนนต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑล สาย 3 กทม. – ทล.340 จ.ปทุมธานี ซึ่งจะตัดถนนใหม่ตรงไปทางทิศเหนือ

แนวเส้นทางเริ่มจากปลายถนนพุทธมณฑล สาย 3 ตัดกับถนนศาลาธรรมสพน์ ข้ามทางรถไฟสายใต้ ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ มุ่งตรงไปทิศเหนือ ตัดกับโครงการถนนนครอินทร์-ศาลายา ข้ามมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี

ข้ามคลองประปามหาสวัสดิ์ ข้ามคลองพระพิมล ตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ข้ามคลองลากค้อน สิ้นสุดโครงการที่ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ก่อนถึงแยกนพวงศ์ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ระยะทางประมาณ 25.85 กิโลเมตร

อนาคตหากโครงการเสร็จสมบูรณ์ การเดินทางโดยรถส่วนตัวจากย่านถนนพุทธมณฑล สาย 4 ไปยังภาคตะวันตกจะสะดวกรวดเร็ว เช่น ไปกาญจนบุรีจากเดิมไปตามถนนปกติ 2 ชั่วโมงครึ่ง จะเหลือประมาณ 1 ชั่วโมง

แม้ว่าค่าผ่านทางไปกาญจนบุรีจะยังไม่ได้กำหนดว่าเท่าไหร่ จากที่กรมทางหลวงเคยกำหนดไว้ รถยนต์ 4 ล้อ จากด่านบางใหญ่คิด 150 บาท ด่านนครชัยศรีคิด 115 บาท ส่วนค่าผ่านทางระหว่างด่านบางใหญ่ ถึงด่านนครชัยศรีกำหนดไว้ที่ 45 บาท

หรือหากเลี้ยวขวาเข้าถนนอุทยาน เลี้ยวซ้ายถนนพุทธมณฑล สาย 3 ตรงไปถนนตัดใหม่ ไปออกถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตรงไปอีกถึงจังหวัดชัยนาท เป็นอีกเส้นทางหนึ่งมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ แบ่งเบาภาระถนนกาญจนาภิเษกปัจจุบัน

จากบริเวณใกล้จุดสิ้นสุดโครงการ ป้ายบอกทางระบุว่า ไปสุพรรณบุรี 64 กิโลเมตร ไปนครสวรรค์ 219 กิโลเมตร ซึ่งถนนสายนี้ไปสิ้นสุดที่จังหวัดชัยนาท ตรงไปถนนพหลโยธิน ไปออกที่แยกหลวงพ่อโอ อ.มโนรมย์ ก่อนเข้าเขตจังหวัดนครสวรรค์

ส่วนกรุงเทพมหานคร มี โครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ตอนนี้ก่อสร้างช่วงระหว่างถนนพุทธมณฑล สาย 2 ถึงถนนพุทธมณฑล สาย 3 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร งบประมาณ 1,532 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญามีนาคม 2566

ส่วนช่วงถนนพุทธมณฑล สาย 3 ถึงถนนพุทธมณฑล สาย 4 อยู่ระหว่างของบประมาณ หากก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดสาย 15 กิโลเมตร จะช่วยแบ่งเบาภาระถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี มุ่งหน้าโรงพยาบาลศิริราชได้เร็วขึ้น

อนาคตอันใกล้ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 จะไม่จำกัดแค่ย่านมหาวิทยาลัย สถานศึกษา ส่วนราชการและที่อยู่อาศัยกระจุกตัวอยู่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะมีโครงข่ายถนนเชื่อมต่อมุ่งหน้าไปยังภาคตะวันตกและภาคเหนืออีกด้วย

อย่างน้อยพอได้บรรเทาปัญหารถติดเส้นบรมราชชนนี เป็นประจำทุกเช้าและเย็นวันทำงาน ให้มีทางเลือกสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนขึ้นมาบ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น