xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าไปเมืองสุพรรณแล้วจะเป็นบ้า! ร.๕ รับสั่งเมื่อเชิญเสด็จ “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



มีคติโบราณถือกันมาว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี แต่ห้ามมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นแต่อ้างกันต่างๆนานา บ้างก็ว่าเทพารักษ์เมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริต เมื่อมีคติโบราณห้ามไว้อย่างนั้น ปรากฏว่าไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้าเสด็จไปเมืองสุพรรณเลย ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

จนในปี ๒๔๓๕ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับโปรดเกล้าฯเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงออกตรวจหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ตาก แล้วกลับมาทางกำแพงเพชร บรรจบกับเส้นทางขาขึ้นที่นครสวรรค์ แล้วล่องลงมาทางอ่างทอง พักอยู่ ๒ วันจึงสั่งให้เจ้าเมืองเตรียมจัดหาม้าพาหนะกับคนหาบหามเพื่อจะไปเมืองสุพรรณ เวลานั้นพระยาอินทรวิชิต (เถียร) อดีตมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเคยอุ้มกรมพระยาดำรงมาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ไม่เต็มใจให้เสด็จในกรมเดินทางไปเมืองสุพรรณ อ้างว่าทางมันไกลไม่มีที่พักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯก็รับสั่งว่าขึ้นไปเมืองเหนือได้เดินทางไกลมาหลายแห่งแล้ว ทั้งได้สั่งเรือให้คอยรับที่เมืองสุพรรณ คนสุพรรณรู้กันหมดแล้วว่าท่านจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา ผู้ว่าฯเมืองอ่างทองได้ฟังรับสั่งก็ได้แต่นิ่ง และไปหาพระยาวรพุทธิโพคัย ซึ่งร่วมมาในขบวนเสด็จด้วย แล้วถามว่า

“นี่ ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม”

พระยาวรพุทธิฯก็ตกใจ ไปทูลเรื่องที่เจ้าเมืองอ่างทองบอก เสด็จในกรมฯก็รับสั่งให้ไปถามเจ้าเมืองอ่างทองว่า เขาห้ามเพราะเหตุใด พระยาอ่างทองก็บอกว่า

“เขาว่าเทพารักษ์เมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดอันตราย”

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯก็เข้าใจที่เจ้าเมืองอ่างทองไม่อยากให้ไปเมืองสุพรรณด้วยความเป็นห่วงว่าจะมีอันตราย จึงให้พระยาวรพุทธิฯไปชี้แจงกับพระยาอ่างทองว่า ท่านเคยได้ยินมาแล้วที่ห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณ แต่ไม่รู้ว่าห้ามเพราะเหตุใด เมื่อได้ฟังคำอธิบายของเจ้าเมืองอ่างทองว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ท่านคิดว่าเทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องสร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำเป็นต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็ไม่อาจเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าท่านจะไปเมืองสุพรรณก็เพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น คงจะกลับยินดีอนุโมทนาเสียอีก พระยาอ่างทองก็จนด้วยถ้อยคำไม่กล้าขัดขวาง

ท้องที่ระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณเป็นทุ่งตลอดทาง เวลานั้นเป็นฤดูแล้ง บางแห่งดินแห้งพอควบม้าไปได้ บางแห่งก็เป็นน้ำเป็นโคลนต้องให้ม้าลุยน้ำไป มีหมู่บ้านเป็นระยะ จนใกล้ต่อแดนสุพรรณจึงเป็นป่าพง มีที่ว่างอยู่ตอนหนึ่งเรียกว่า “ย่านสาวร้องไห้” ตอนฤดูแล้งคนเดินทางผ่านจะหาน้ำกินไม่ได้ เสด็จฯในกรมขี่ม้าตั้งแต่เช้าพอสายก็ออกจะหิว พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชาวบ้านที่รู้ข่าวว่าขบวนเสด็จจะผ่านมาก็ออกมานั่งคอยรับ พร้อมทั้งมีสำรับกับข้าวตั้งเรียงรายเตรียมเลี้ยงทั้งขบวน
ทรงเล่าตอนนี้ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ว่า

“ฉันลงจากม้าไปปราศรัยแล้วเปิดฝาชีสำรับดู เห็นเขาหุงข้าวแดงแต่เป็นข้าวใหม่ปีนั้นมาเลี้ยง กับปลาแห้งปีใหม่นั้นเหมือนกัน นอกจากนั้นมีกับข้าวอย่างอื่นอีกสองสามสิ่งซึ่งไม่น่ากิน เห็นแต่ข้าวใหม่กับปลาแห้งก็อยากกินด้วยกำลังหิว ก็เลยหยุดพักกินข้าวที่ชาวบ้านเลี้ยง อร่อยพิลึก ยังไม่ลืมจนบัดนี้ สังเกตดูชาวบ้านเห็นพวกเรากินเอร็ดอร่อยก็พากันยินดี ข้าวปลาบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมจนกินอิ่มกันหมด คงรู้สึกว่าหามาไม่เสียแรงเปล่า กินอิ่มแล้วฉันวางเงินปลีกให้เป็นบำเหน็จทุกสำรับ

ตรงนี้จะเล่าถึงเรื่องชาวบ้านเลี้ยงคนเดินทางไปอีกสักหน่อย เคยสังเกตมา ดูเหมือนชาวเมืองไทยไม่ว่าอยู่หัวเมืองไหนๆ ถ้ามีแขกไปถึงบ้าน ชอบเลี้ยงอาหารด้วยความอารี มิได้ปรารถนาจะเรียกค่าตอบแทนอย่างไร จะว่าเป็นธรรมดาของชนชาติไทยก็เห็นจะได้ ฉันเคยได้ยินคนไปเที่ยวตามหัวเมือง แม้จนฝรั่ง มาเล่าและชมอย่างนั้นเป็นปากเดียวกันหมด...”
 
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นแล้ว เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ แม้เสด็จฯในกรมเองก็ไปอีกหลายครั้ง และท่านยังรับหน้าที่เป็นผู้จัดการเสด็จประพาสเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงใคร่จะทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดขึ้นใหม่ ต้องหาที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ปีหนึ่งจึงกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า

“ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯกราบทูลว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณมาหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้”

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระสรวล ตรัสว่า “ไปซิ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก ทางแม่น้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องก่อน แล้วเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรโบราณสถานทุกแห่ง เมื่อเสด็จไปพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ได้พระราชทานเงินให้สร้างกำแพงแก้วกับศาลาที่พัก ขยายบริเวณศาลให้กว้างขวางออกไปอีก ปัจจุบันเป็นอย่างภาพประกอบในเรื่องนี้ มีประชาชนและเจ้าไปเที่ยวกันแยะ แล้วเสด็จกลับทางคลองจระเข้ใหญ่ มาออกผักไห่ ประทับรถไฟที่บางปะอินกลับกรุงเทพฯ

ต่อมาในปี ๒๔๕๒ เมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปสุพรรณบุรีอีกครั้ง ครั้งนี้เสด็จไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาถึงชัยนาท แล้วล่องเข้าคลองมะขามเฒ่า ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวช ลงมาจนถึงเมืองสุพรรณ แล้วประทับรถไฟที่สถานีงิ้วรายกลับกรุงเทพฯ

พระนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงท้ายในเรื่อง “ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” ว่า

“ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น