xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.อัดฉีด “อินโนบิก” รุก Life Science เต็มที่ เร่งสร้าง Ecosystem หนุนเป้าหมายสัดส่วนกำไร 10% ปี 73

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความคาดหวังต่อภาคธุรกิจในการเข้ามามีบทบาทผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคเอกชน ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องทบทวนเป้าหมายและปรับทิศทางพอร์ตการลงทุนภายในปี 2573 ใช้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในธุรกิจ New S-Curve และพลังงานอนาคต รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกลไกสำคัญทำให้ปตท.เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดรับวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”

ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้ทบทวนและอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนของ ปตท. และบริษัทปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 สำหรับปี 2565 จากเดิมใช้วางงบลงทุนอยู่ที่ 46,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 91,179 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 จากเดิมที่วางงบลงทุนไว้ 19,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 56,432 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานจาก 3,862 ล้านบาทขยับขึ้นเป็น 14,765 ล้านบาท

โดยหลักมาจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจ LNG รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในการตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ร่วมทุนกับ Foxconn ตั้งบริษัท "ฮอริษอน พลัส" (Horizon Plus) เพื่อรับจ้างผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science : ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) โดยเฉพาะธุรกิจยา ที่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited รวมไปถึงการขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่าย LNG แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

สำหรับการลงทุนในโครงการอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 เป็นต้น


บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ ปตท. Powering Life with Future Energy and Beyond มี 2 บริษัทที่เป็นพระเอกมีบทบาทสำคัญ คือบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็น Future Energy ส่วนบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ก็เป็นหัวหอกสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตหรือ Life Science ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายธุรกิจที่ ปตท.ให้ความสำคัญ สอดรับกับคำว่า Beyond

ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 เพื่อทำธุรกิจ Life Science ประกอบด้วยธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่ ปตท.ไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นการเข้าสู่ธุรกิจนี้จึงอาศัยความร่วมมือกับพาร์คเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ผนวกกับความแข็งแกร่งของบริษัทแม่ คือ ปตท. ทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ปีกว่าๆ อินโนบิกสามารถก้าวสู่วงการธุรกิจยา Nutrition อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว และมองว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบนี้ ทาง ปตท.จะนำไปใช้กับการลงทุนธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ด้วย


อินโนบิกเร่งสร้าง Ecosystem

อย่างไรก็ดี เพื่อให้อินโนบิกก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำทางด้าน Life Science ในภูมิภาคนี้ ต่อจากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่งโดยปกติอยู่ที่ 5-10 ปี เนื่องจากเห็นว่าพอร์ตธุรกิจยามีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา อินโนบิกทุ่มเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 6.6% ในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical Co., Ltd.) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำในตลาดเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน นับเป็นการเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างสวยงาม และการลงทุนครั้งนี้เองที่มีส่วนช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ และยาเรมเดซิเวียร์เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดรุนแรงในช่วงปีที่แล้ว

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการให้คนไทยและอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเข้าถึงยารักษาโรคได้มากขึ้น อินโนบิก ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Lotus Pharmaceutical มากขึ้น โดยได้ร่วมกับแอซทีค (Aztiq) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก Lotus Pharmaceutical และถือหุ้น 100% ของ บริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) บริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อินโนบิกก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นหลักใน Lotus Pharmaceutical ในสัดส่วนประมาณ 37% และถือหุ้นประมาณ 60% ใน Adalvo

นอกจากนี้ อินโนบิกทำสัญญาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) คิดเป็นสัดส่วน 20% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,043 ล้านบาท คาดว่าดีลการซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3/2565 ซึ่งการเข้าถือหุ้นใน IP ครั้งนี้จะช่วยต่อยอดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบบครบวงจรตั้งแต่เวชภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมทางยา เวชภัณฑ์สำหรับสุขภาพดวงตา (Eye Healthcare) จนถึงโภชนเภสัชและอาหารเสริม (Nutraceuticals & Supplement) ยาสมุนไพรของไทย อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และเป็นการขยายตลาดให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย รวมทั้งทำตลาดต่างประเทศในอนาคต โดยจะนำองค์ความรู้จาก Lotus Pharmaceutical มาช่วยซัปพอร์ต ขณะที่ IP ก็มีโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐาน เบื้องต้นอาจเริ่มจากการว่าจ้างผลิตเพื่อทำตลาดในอาเซียนก่อน ในอนาคตอาจใช้โรงงานของ IP เป็นฐานการผลิตเวชภัณฑ์ รวมไปถึงเป็นทางเลือกในการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง


นอกเหนือจากธุรกิจยาแล้ว อินโนบิกจับมือกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุน "นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน" หรือ NRPT เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร (Plant-based Food) ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาในกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการและโภชนเภสัช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่อินโนบิกได้ตั้งเป้าหมายไว้

ทั้งนี้ NRPT ได้ร่วมทุนบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ (Plant & Bean (UK)) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย เพื่อตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชขั้นสูงจากต่างประเทศ หวังเจาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขณะนี้โรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565 เพื่อเป็นการสร้างตลาดรองรับโปรดักต์ที่จะออกมา อินโนบิกกับพันธมิตรนำร่องเปิดตัวร้าน “alt. Eatery” คอมมูนิตีอาหาร Plant-based ใจกลางเมืองแห่งแรกของกรุงเทพฯ เพื่อชิมลางตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ส่วนธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์นั้น อินโนบิก ลงทุนในบริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 17.65% คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์กลุ่มทำให้ปราศจากเชื้อ (sterilization) เช่น เครื่องมือที่ใช้ในห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน และห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) เพื่อขยายสู่ตลาดภายในประเทศและส่งออกในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยังได้ผสานพลังกับกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ บมจ.ไออาร์พีซี จัดตั้งบริษัทอินโนโพลีเมด จำกัดเพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น สำหรับโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ตั้งอยู่ที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง โดยโรงงานดังกล่าวได้เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ อินโนบิกได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บมจ.ไออาร์พีซี และ บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เพื่อร่วมกันศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ภายใต้การร่วมศึกษาข้อมูลตลาดเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในด้านต่างๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์( Medical Hub) การมีฐานการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ถือเป็น NEW S- Curve ที่มีความสำคัญในไทย โดยเบื้องต้นสินค้านำร่องที่น่าจะออกวางสู่ตลาดภายในปลายปี 2565 อาทิ กระบอกทำความชื้นออกซิเจน (Oxygen Bottle) ซึ่งปัจจุบันบางโรงพยาบาลยังใช้วิธีการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเพื่อใช้ซ้ำ ดังนั้นจึงมีแผนผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับฟอกไต เป็นต้น


จับมือ อภ.เร่งสรุปแผนตั้ง รง.ผลิตยาต้านมะเร็ง

บุรณินกล่าวถึงการให้ความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทยที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ จ.ระยองนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา แต่อาจจะต้องมีการปรับโมเดลบ้างเพื่อให้ทันต่อนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กระแสการตื่นตัวด้านการวิจัยเพิ่มขึ้น โดยโฟกัสกลุ่มยารักษาโรคไม่ติดต่อ (NCD)โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกส่วนในร่างกาย

โครงการดังกล่าว ทาง ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงงานรักษามะเร็งแล้วให้องค์การเภสัชฯ เช่าใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและปรับโมเดล คาดว่าปี 2565 จะได้ข้อสรุป

หากกล่าวถึงรายได้ของอินโนบิกในช่วง 1 ปีนี้ แม้ว่าจะยังไม่มากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนที่ใช้ เนื่องจากเป็นการเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ สัดส่วนต่ำกว่า 50% จึงบันทึกรับรู้กำไร (ขาดทุน) ตามสัดส่วนการถือหุ้นในงบการเงินรวม (Consolidate Financial) แต่เมื่อสร้าง Ecosystem สมบูรณ์แล้ว ทำให้บริษัทมีช่องทางในการจัดจำหน่าย มีไลเซนส์ผลิตภัณฑ์ มีโรงงานผลิต ฯลฯ มั่นใจว่าอินโนบิกจะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับปตท. เพราะแค่ Lotus Pharmaceutical ก็ทำกำไรให้อินโนบิกในแต่ละปีได้ระดับหนึ่ง ขณะที่เป้าหมายที่ปตท.กำหนดไว้ว่า ธุรกิจใหม่และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรมากกว่า 30% ของกำไรของ ปตท.ในปี 2573 หมายความว่าอีก 8 ปีข้างหน้า อินโนบิกทำกำไรให้กับ ปตท.คิดเป็นสัดส่วน 10% ของกำไรรวม หากเทียบกับปี 2564 ที่ ปตท.มีกำไรสุทธิ 108,363 ล้านบาท เท่ากับว่าอินโนบิกต้องมีกำไรถึง 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น