สถาบันปิโตรเลียมออกโรงแนะรัฐบาลคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจคุมค่าการกลั่นหรือรีดกำไรโรงกลั่น เสี่ยงความมั่นคงต่อการผลิตน้ำมัน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของไทย ชี้หากจำเป็นเพราะรัฐขาดงบประมาณควรออกพระราชกำหนดเก็บภาษีพิเศษจำเพาะแบบ Windfall profit tax โดยมีหลักเกณฑ์และกติกาที่ชัดเจนว่าจะเก็บจากธุรกิจไหนบนเงื่อนไขอะไร
นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การควบคุมค่าการกลั่น หรือแบ่งกำไรส่วนเกินหรือส้มหล่น มาช่วยพยุงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่สูงขึ้นควรจะไตร่ตรองให้รอบคอบและคิดถึงผลกระทบทั้งในระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะออกมาตรการใดๆ ออกมา รวมทั้งควรมองไปถึงตอนจบด้วยว่ามาตรการที่จะนำมาใช้จะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือไม่ และไม่ควรแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งให้คนรุ่นหลังหรือรัฐบาลข้างหน้ารับไปแก้กันเอาเอง
ประการแรก ต้องเข้าใจ ค่าการกลั่น (GRM) มิใช่กำไรแท้จริงที่โรงกลั่นได้รับ และจะดูค่า GRM ควรจะต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา ของทุกผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาจากหอกลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบชนิดที่แต่ละโรงกลั่นเขาสั่งซื้อเข้ามากลั่นจริง (หรือที่เรียกว่า crack spreads) และดู loss ในกระบวนการผลิตด้วย ไม่ใช่เอาส่วนต่างเฉพาะของราคาน้ำมันดีเซล (ซึ่งมักจะแพงที่สุด) ไปลบด้วยราคาน้ำมันดิบดูไบ (ซึ่งมักจะถูกที่สุด) แล้วไปสรุปเลยว่าเขาต้องมีกำไรมหาศาล เปรียบเสมือนโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกมาสี สีข้าวแล้วได้ผลิตภัณฑ์ต่างชนิดที่ขายได้ในราคาต่างกัน เช่น แกลบ รำข้าว ปลายข้าว ข้าวหัก มิใช่มีแต่ข้าวสาร 5% หรือมีแต่ข้าวหอมมะลิอย่างเดียว เป็นต้น GRM จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคแล้วเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศอื่นๆ GRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรและแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี มิได้แปลว่า GRM มีค่าสูงแล้วจะมีกำไรดีเสมอไป
ประการที่สอง โรงกลั่นแต่ละโรงมีโครงสร้างการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันและคุณภาพของชนิดน้ำมันดิบที่ซื้อก็อาจแตกต่างกันด้วย ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน cost structures จึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การจะไปคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงแบบจะใช้ระบบ cost plus จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน รวมถึงการจะประกาศควบคุมราคาอย่างที่อดีตขุนคลังบางคนแนะนำ รัฐก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมันด้วย หากทำไปก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจเขาอาจทบทวนลดการสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
การส่งสัญญาณที่ผิดจะทำให้ภาคธุรกิจต้องทบทวนความเสี่ยง optimize products and crude runs สั่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้อยลง หรือกลั่นแต่ส่งออกมากขึ้น หรือปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตสินค้าอื่นเช่นปิโตรเคมีมากขึ้น แทนที่จะผลิตออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการจัดหาในประเทศ
ประการที่สาม โรงกลั่นทั้งหกโรงในประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผยงบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปีและรายไตรมาสตามกฎกติกาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่ดิน ธุรกิจของแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรของเขาจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่นเท่านั้น แต่ละโรงอาจมีการลงทุนขยายงานหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมกัน เช่นลงทุนติดอุปกรณ์คุมมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 5 ตามนโยบายรัฐ เป็นต้น การจะไปขอให้แต่ละโรงเขาจัดสรรเงินก้อนแบ่งกำไรมาให้รัฐ โดยจะใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนดแบบไม่แน่นอน (arbitrary) ผู้บริหารเขาคงต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและพันธกรณีใดๆ และจะต้องนำไปขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทฯ ก็พึงมีหน้าที่ตัดสินใจโดยชอบบนหลัก Fiduciary Duty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หากคณะกรรมการบริษัทมหาชนใช้ดุลพินิจโดยมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งจนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ก็อาจถูกผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยฟ้องร้องเอาได้
ประการที่สี่ (ต่อเนื่องจากประการที่สาม) กำไรสุทธิของโรงกลั่นที่เป็น บมจ. จะรู้แน่ว่ามีกำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอให้ครบ 12 เดือนของปีปฏิทินเสียก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่สองสามเดือนที่ผ่านมาแล้วสรุปว่าโรงกลั่นมีกำไรมหาศาล หากในอีกหกเดือนหลังของปี 2565 นี้ราคาน้ำมันร่วงลงมา ค่า crack spreads ของดีเซลและเบนซินตกลงมาเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกหรือมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นทำให้ต้องเกิดการ Lockdown รอบใหม่ โรงกลั่นกลายเป็นขาดทุนในรอบครึ่งปีหลัง เขาจะไปเรียกร้องขอเงินส้มหล่นนี้คืนจากรัฐได้ไหม ทุกวันนี้เพียงแค่มีข่าวว่ารัฐจะควบคุมราคาหรือกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือโรงกลั่นอาจต้องให้ความร่วมมือ 'บริจาค' เงินก้อนให้รัฐไปพยุงราคาน้ำมัน บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ต่างส่งสัญญาณ Sell ทำให้หุ้นของโรงกลั่นทั้งหกโรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาตกยกแผง market cap ลดวูบ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคมทั้งหลาย หรือกองทุนการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF หรือ SSF ที่เคยถือหุ้นโรงกลั่นอันจัดเป็นหุ้นพื้นฐานดีบน SET100 ต่างกลายเป็นมีมูลค่าสุทธิลดลง เพราะนักลงทุนเทขาย จากความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเสรี อาจกระทบต่อดัชนีจัดอันดับความชื่อถือ ratings ของบริษัทฯ ได้
นอกจากนี้ ในระยะยาว การที่รัฐจะไปเชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการ mega projects ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็อาจจะยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติก็คงถามหาสิทธิภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมีกับนานาประเทศ ว่าเขาจะคงได้รับความคุ้มครองจากการเวนคืน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในไทยเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอาจถือว่าแพงก็จริง แต่ก็ยังต่ำกว่าอีก 7 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปีนส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา จะมีก็เพียงสองประเทศที่ราคาต่ำกว่าไทย คือมาเลเซีย และบรูไน โดยที่มาเลเซียนั้นเขาใช้วิธีอุดหนุนราคาที่ปั๊มน้ำมันโดยรัฐบาลกลางตั้งงบประมาณมาสนับสนุน (มิใช่ให้ PETRONAS ไปอุดหนุน) การจะช่วยแก้ปัญหาน้ำมันแพง อย่างแรกก็คือทำแบบที่หลายๆ ท่านแนะนำคือ ประหยัดพลังงาน (ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า) อดทนร่วมกัน ยอมรับความจริงว่า ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ ราคาน้ำมันในบ้านเราจึงต้องยึดโยงกับตลาดโลก และหากเห็นว่ามีความจำเป็นเพราะรัฐขาดดุลงบประมาณจริงๆ ก็อาจพิจารณาตามที่หลายๆ ท่านแนะนำคือ ออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดมาเก็บภาษีพิเศษจำเพาะ แบบ Windfall profit tax โดยมีหลักเกณฑ์และกติกาที่ชัดเจนว่าจะเก็บจากธุรกิจไหนบนเงื่อนไขอะไร
การออกกฎหมายเก็บภาษีเป็นอำนาจของรัฐอยู่แล้ว ถือเป็นหลักสากลเพราะใช้บังคับโดยทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติกับบางบริษัท แม้ภาคธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติอาจจะบ่นบ้าง แต่ก็เป็นไปโดยชอบธรรม ซึ่งบริษัทมหาชนทั้งหลายจะสามารถ compliance ปฏิบัติได้ รักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และการเคารพใน rule of laws