xs
xsm
sm
md
lg

"สันติ กีระนันทน์" วอนรัฐบาลอย่าประเมินสังคมต่ำ ปมโรงกลั่นกับวิกฤตราคาพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทยชี้รัฐบาลสามารถสร้างสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ได้ ข้ออ้างที่ว่าโรงกลั่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทำอะไรไม่ได้นั้นฟังไม่ขึ้น เตือนอย่าประเมินกระบวนการทางสังคมต่ำเกินไป

วันนี้ (18 มิ.ย.) นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "สันติ กีระนันทน์" หัวข้อ "บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ วิกฤตราคาพลังงาน การทำกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น : คำถามที่ต้องวิเคราะห์ก่อนตอบ" ระบุว่า

"ในช่วงที่มีวิกฤตราคาพลังงานเกิดขึ้นนั้น ปตท.ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมทุกครั้ง และทุกครั้งก็จะมีขบวนการ "ทวงคืน ปตท." เกิดขึ้น ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นานชนวนเหตุของราคาพลังงานแพง ซึ่งเป็นต้นทางของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่จะตามมานั้น มีโอกาสไม่น้อยที่จะนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการ "ทวงคืน ปตท." ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกในไม่ช้านี้

เมื่อวานนี้ 17 มิถุนายน 2565 ผมได้แสดงทัศนะไปแล้วว่า ในโรงกลั่น 6 โรง ไล่ลำดับความใหญ่โตของขนาดสินทรัพย์ คือ PTTGC, TOP, BCP, IRPC, ESSO, และ SPRC ซึ่ง 2 โรงหลังนั้น (ESSO และ SPRC) มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างชาติ คือ ExxonMobil และ Chevron ในขณะที่ PTTGC, TOP, และ IRPC มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ปตท. ซึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่า 45% และ BCP นั้นมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นคนไทย ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม (14.4%) กองทุนรวมวายุภักษ์ (19.84%) กระทรวงการคลัง (4.76%) รวมแล้วคือ 39%

และสำหรับ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรงกลั่นหลัก ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51.1%

จะเห็นได้ว่า ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยนั้นยังอยู่ในความควบคุมของรัฐ (โดยกระทรวงการคลัง) ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แม้บริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มักจะมีข้ออ้างว่า เมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ถือหุ้น แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ซึ่งก็เป็นข้ออ้างที่ฟังดูดี แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จะพบว่าเกือบจะไม่มีบริษัทจดทะเบียนใดเลยที่ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และโดยสภาพความเป็นจริงอีกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เหล่านั้นก็เป็นเจ้าของเดิมและเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้น นโยบายหลักใดๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม ก็มีแนวปฏิบัติให้ไปขออนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินการตามนโยบายนั้น ... นั่นก็คือกระบวนการเพื่อสร้างความโปร่งใส ความยุติธรรม และคำนึงถึงการพัฒนาในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน (sustainable development - SD)

ข้ออ้างที่บอกว่า เมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นครับ และหากเป็นเช่นนั้นจริง บริษัทจดทะเบียนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงจะมีผลประกอบการที่เละเทะ เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือเจ้าของเดิม ก็จะเป็นผู้ที่มีความชำนาญและรู้แจ้งในธุรกิจ มากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้าไปร่วมในการระดมทุน (ในตลาดแรก และเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง)

ผมพยายามอธิบายเหตุผลอย่างยืดยาวนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ใครก็ตามที่พยายามยกข้ออ้างว่าโรงกลั่น 4 โรงใหญ่ของประเทศไทยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว รัฐจึงเข้าไปยุ่งไม่ได้ เป็นเรื่องไม่จริงครับ

อย่าลืมว่า บริษัทจดทะเบียนนั้น ต้องไม่มุ่งหวังกำไรระยะสั้นที่ทำให้อนาคตของบริษัทสั้นลงด้วย เพราะการกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) อย่างรอบด้านนั้น ย่อมทำให้เกิดการรังเกียจบริษัทนั้นในที่สุด และก็คงจะเกิดกระบวนการต่างๆ ทางสังคม ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับบริษัทในกลุ่มพลังงานนี้ก็คือ ขบวนการ "ทวงคืน ปตท." ซึ่งก็อาจจะนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน social sanction ที่แสดงให้เห็นว่า stakeholder สำคัญ คือประชาชนซึ่งเป็นลูกค้า ไม่พอใจต่อการได้ "กำไรเกินควร" จากการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส จึงเกิดข้อเรียกร้องเหล่านั้น

ผมอยากจะเรียนว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านอย่าประเมินกระบวนการทางสังคมต่ำเกินไปนะครับ เพราะพลังของกระบวนการทางสังคมมีพลังมากกว่าที่ท่านคาดคิดได้ เรามีตัวอย่างมาให้เห็นหลายครั้งแล้วนะครับ ต่อความประมาท ต่อความถือดีในอำนาจรัฐที่ตนเองถือครองอยู่ ... ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ครับ

ดังนั้น ไม่เป็นการแปลกครับที่รัฐจะใช้โอกาสนี้ "ดูแลโรงกลั่นของรัฐ" ให้มี "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ด้วยวิธีการที่โปร่งใส เป็นธรรม ยอมรับได้ และตอบสนองต่อ stakeholder อย่างรอบด้าน

หากท่านไม่มั่นใจว่าท่านจะกำหนดนโยบาย (เช่น ค่าการกลั่น) ผิดไปจากความต้องการของผู้ถือหุ้น ท่านก็สามารถจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัตินโยบายก็ได้ครับ

ทางออกของการแก้ปัญหามีครับ อย่าอ้างว่าโรงกลั่นเหล่านี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว รัฐบาลจึงเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ... ถูกครับ ท่านคงแทรกแซงไม่ได้ แต่ในฐานะของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ท่านสามารถสร้างสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ต่างๆ ได้ครับ

อย่าให้เกิดขบวนการ "ทวงคืน ปตท." อีกเลยนะครับ

อยู่ที่สติปัญญา ความจริงใจ ของรัฐบาลนะครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่










กำลังโหลดความคิดเห็น