“ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งฟังเสียง "ชาวภูเก็ต" กางต้นทุนและค่าโดยสาร สร้างระบบขนส่งมวลชน เลือก “แทรมป์ หรือ ART” จ่ายไหวแค่ไหน เตรียมลุยเฟส 1 "สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง" และจ่อขยายเส้นทางถึงท่าฉัตรไชย รฟม.ลงพื้นที่ 15-21 มิ.ย.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ว่า หลังจากที่ได้ให้ข้อมูลแนวทางการพัฒนาและข้อดี ข้อด้อยในรูปแบบการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสม ระหว่าง ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อเหล็ก หรือแทรมป์ กับระบบขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (ART) ต่อ ผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากจังหวัดภูเก็ต ที่ได้เข้าหารือเนื่องจากระบบขนส่งมวลชน เป็นปัจจัยสนับสนุนประกอบการที่จังหวัดภูเก็ตจะยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2028 โดยยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีการลงทุนที่เหมาะสมและมีอัตราค่าโดยสารที่ประชาชนสามารถยอมรับได้หรือไม่
ทั้งนี้ จากการหารือกับภาครัฐและเอกชนจังหวัดภูเก็ต ได้รับทราบเรื่องต้นทุน และเห็นด้วยกับระบบ ART ล้อยาง เนื่องจากมีข้อดี คือใช้เวลาก่อสร้างเร็ว ค่าลงทุนไม่สูง ใช้พื้นที่ถนนโดยการกั้นช่องจราจร และใช้ระบบเครื่องกั้นในการบริหารความปลอดภัย ขณะที่เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือแทรมป์จะมีค่าก่อสร้างสูง ช่วงตัดกับถนนต้องทำทางยกระดับข้าม ซึ่งมีข้อจำกัดและมีค่าลงทุนสูงและจะมีความคุ้มค่าต่อเมื่อมีปริมาณผู้โดยสารสูงเช่นกัน ขณะที่ต้องกำหนดค่าโดยสารแพง ทำให้มีผู้โดยสารน้อยเพราะจ่ายค่าโดยสารไม่ไหว สุดท้าย โครงการก็ไปไม่รอด ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ภาคเอกชนเข้าใจและยอมรับ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยนำข้อมูลทั้งหมดชี้แจงอธิบายต่อประชาชนและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Hearing) เรื่องอัตราค่าโดยสารของโครงการ หากประชาชนต้องการระบบแทรมป์ ล้อเหล็ก และยอมรับค่าโดยสารที่สูงได้ ก็ยืนยันมา หรือรับค่าโดยสารแพงไม่ไหว ระบบ ART น่าจะเหมาะสม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ตนจะลงไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันแนวทางเพื่อเริ่มต้นโครงการต่อไป
"หลักการให้ รฟม.ไปรับฟังความเห็นประชาชนชาวภูเก็ตให้ชัดเจน ว่ามีความเห็นเรื่องค่าโดยสารอย่างไร หากต้องการระบบแทรมป์ ก็ต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารที่สูงได้หรือไม่ โดยในการแสดงความเห็น ขอให้มีการแสดงตัวตน แสดงบัตรประชาชนด้วย เพื่อจะได้เชื่อมั่นว่าเป็นความเห็นจากคนในพื้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ระบบ ART เป็นขนส่งมวลชนที่มีความคุ้มค่าและเหมาะสม ซึ่งหากที่จังหวัดภูเก็ตสามารถได้ข้อสรุปและเดินหน้าไปได้ จะให้รฟม.นำไปดำเนินการระบบขนส่งมวลชนตามเมืองใหญ่ในภูมิภาค ที่ รฟม.มีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน"
@รฟม.ลงพื้นที่ภูเก็ต 15-21 มิ.ย. ฟังเสียงสะท้อนอัตราค่าโดยสารและขยายไปยังท่าฉัตรไชย
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม.เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตระหว่างวันที่ 15-21 มิถุนายน 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารและการขยายแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ไปยังท่าฉัตรไชย เพื่อรองรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมชมงาน Specialised Expo 2028
ทั้งนี้ จากที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1ฯ อย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้ รฟม.พิจารณาศึกษาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าให้เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนการก่อสร้าง รวมทั้งได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอรายละเอียดดังกล่าวเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในจังหวัดภูเก็ต
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารของโครงการฯ นั้นจะเป็นแบบอัตราคงที่ (Flat Fare) โดยแบ่งตามเขตพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง รวมถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการต่อขยายแนวเส้นทางโครงการฯ ไปยังท่าฉัตรไชย เพื่อรองรับการเดินทางเข้าร่วมชมงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ระหว่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอีกด้วย
หลังจากนั้น รฟม.จะนำผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1ฯ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต โดยหากมีการขยายเส้นทางไปยังท่าฉัตรไชยแล้ว รฟม.จะดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาหรือพำนักอาศัยในจังหวัดภูเก็ต สามารถร่วมตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้ที่ https://www.mrta.co.th/phuket-form/index.html หรือสแกน QR CODE ได้ตั้งแต่วันนี้-24 มิถุนายน 2565
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 3 สถานี ซึ่ง รฟม.จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. เปรียบเทียบกรอบวงเงินลงทุนของ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรมป์) วงเงินรวม 35,201 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 24,774 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,921 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 1,065 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,428 ล้านบาท คาดจำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุน EIRR ต่ำมาก
2. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง (แทรมป์) วงเงินรวม 33,600 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,339 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 3,955 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 990 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,363 ล้านบาท
3. รถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ (ART) วงเงินรวม 17,754 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,447 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,861 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 1,236 ล้านบาท (มี 44 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 518 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 692 ล้านบาท