xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเกณฑ์ชิง "สายสีส้ม" รอบใหม่สุดหิน ตั้งคะแนนเทคนิค 90 มีสิทธิ์เปิดข้อเสนอราคา ดีเดย์ขายซอง 27 พ.ค.-10 มิ.ย. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.ตั้งหลักใหม่เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท ขายซอง 27 พ.ค.-10 มิ.ย. 65 ยื่นซอง 27 ก.ค.เปิดข้อเสนอ 1 ส.ค. ตั้งเป้าลงนามสัญญาร่วมทุนปลายปี 65 เปิดเกณฑ์ตัดสินใหม่สุดหิน ซองที่ 2 ด้านเทคนิคต้องคะแนนเกิน 90 ถึงมีสิทธิ์เปิดข้อเสนอการเงินตัดสิน

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า วันที่ 24 พฤษภาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.ได้ลงนามใน ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยผู้ที่สนใจสามารถซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ในวันทำการของ รฟม. ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคาร 1 รฟม. และมีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. กำหนดเปิดซองข้อเสนอวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2565 โดยประกาศเชิญชวนฯ (ฉบับทางการ) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ข้อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.mrta.co.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2716-4000 ต่อ 1519, 1589, 1590, 1591 ในวันและเวลาราชการ

สำหรับการคัดเลือก จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัดโดยเป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

โดย รฟม.ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost)

มีระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน
- ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี
- ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก

สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลไทยจดทะเบียนในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกลุ่ม ต้องมีนิติบุคคลไทยร่วมอย่างน้อย 1 รายที่มีสัดส่วนถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35%, มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์และผลงาน ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท อย่างน้อย 1 โครงการ โดยมูลค่าของผลงานแต่ละประเภทในสัญญาเดียวจะต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภท ที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องนำเสนอ ประกอบด้วย ก. งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ ข. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน ค. งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง

ประสบการณ์ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี และดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างน้อย 1 โครงการ

@เปิดเกณฑ์ตัดสินใหม่สุดหิน ผ่านเทคนิคคะแนนรวมไม่น้อยกว่า 90

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสิน กำหนดข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินงานของ รฟม.

โดยการพิจารณาข้อเสนอนั้น เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการตรวจสอบเอกสารครบถ้วน ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจ หลักประกันซอง ความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้ในเอกสาร RFP จะได้รับการพิจารณา ข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ประเมินแบบผ่าน/ไม่ผ่าน กรณีไม่ผ่านจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 พร้อมกับส่งซองข้อเสนอคืน

การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ประเมินแบบคะแนนคิดเป็นร้อยละ คะแนนเต็มร้อยละ 100 โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
1. โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 10
2. แนวทางวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา ร้อยละ 50
3. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า ร้อยละ 10
4. แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา ร้อยละ 30

ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนประเมินในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนรวมทั้งหมด จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งจะประเมินแผนธุรกิจ แผนการเงิน การระดมทุน การใช้จ่ายและแผนบริหารความเสี่ยง ผลตอบแทนที่จะให้แก่ รฟม. และ/หรือจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาส่วนตะวันตกที่ขอรับจาก รฟม.

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท

มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)


กำลังโหลดความคิดเห็น