xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ผุดอุโมงค์รถไฟไทย-จีน “ศักดิ์สยาม” หวั่นดีเลย์หนัก เร่ง รฟท.เจรจาปรับแบบ "สถานีอยุธยา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ก่อสร้างอุโมงค์ "รถไฟไทย-จีน" หมวกเหล็กและลำตะคอง “ศักดิ์สยาม” สั่งรฟท.เร่งเจรจาผู้รับจ้างแก้ปัญหาแบบสถานีอยุธยาสัญญา 4-5 เผยโควิดฉุดงานล่าช้า หารือ "รมว.คลัง" ปรับมาตรการเยียวยา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 พ.ค. 2565 มีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการแล้ว

โดยการขอยกเว้นการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จะอยู่ในช่วงสระบุรี-นครราชสีมา ในส่วนงานอุโมงค์ (สัญญางานโยธาที่ 3-2 มวกเหล็กและลำตะคอง ) มีระยะทางของอุโมงค์และแนวเส้นทางโครงการที่ต้องพาดผ่านลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา รวม 5,270 เมตร โดยใช้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับเดิม ซึ่งการเสนอ ครม.อนุมัติเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ขณะนี้มีความล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากติดขัดปัญหาในหลายประเด็น ซึ่งตนได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และแก้ไขสัญญาที่มีปัญหาโดยเร็วเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผน

เช่น กรณีสถานีอยุธยา (สัญญา 4-5) ซึ่ง รฟท.ได้ประมูลเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากแบบตัวสถานีที่ใช้ประมูลนั้นเป็นแบบตามรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง ซึ่งมีประเด็นเรื่องสถานีอยุธยา จึงทำให้ EIA ฉบับปรับปรุงยังไม่ได้รับอนุมัติ ดังนั้น เพื่อให้สามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ จะต้องเร่งพิจารณาหาทางออก เช่น กรณีใช้แบบตัวสถานีอยุธยา ตามรายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้วก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.จะต้องหารือกับผู้รับจ้าง เพราะจะต้องปรับรายละเอียดของราคาค่าก่อสร้างลง หรือตัดเนื้องานในส่วนของสถานีอยุธยาออก เนื่องจากรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง ยังไม่ได้รับอนุมัติ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถลงนามสัญญาก่อสร้างในส่วนของทางวิ่งไปก่อน

“ซึ่งคาดว่าจะกลับไปใช้แบบสถานีตามรายงาน EIA เดิม เพราะการตัดเนื้องานออกและรอ EIA ฉบับปรับปรุงจะยิ่งทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.เร่งเจรจากับผู้รับเหมา คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.และนำไปสู่การลงนามสัญญาก่อสร้างต่อไป” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวยอมรับว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่มีปัญหาความล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากเกิดโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการเยียวยาผู้รับจ้างให้สามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ลดลงแล้ว การทำงาน รวมถึงแรงงาน กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งตนได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้พิจารณากรณีที่ให้ผู้รับจ้างนำปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นข้ออ้างในการขยายเวลาก่อสร้างว่าจะยกเลิกได้เมื่อใด เพราะไม่เช่นนั้นงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ก็จะยิ่งล่าช้าออกไป

สำหรับสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. การประกวดราคา ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เสนอราคาที่ 9,913 ล้านบาท แต่ไม่ยืนราคา ส่วนลำดับที่ 2 ปฏิเสธการเจรจา ดังนั้นจึงเชิญผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (ในเครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริง ) มาเจรจา วงเงินอยู่ที่ 10,326 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท ส่วนประเด็นมรดกโลก สถานีอยุธยาจะเร่งศึกษา HIA โดยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติ TOR จัดจ้างศึกษา HIA ในรูปแบบการจ้างตรง หรือเปิดประมูลทั่วไป โดยมีระยะเวลาศึกษา 180 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น