ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศเผยดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าพบมีโอกาสที่จะเจอความเสี่ยงสูง หลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม 6 เท่า คาดราคาเฉลี่ยหน้าสวนปี 65-69 อยู่ที่ 136 บาทต่อ กก. แถมเจอคู่แข่งในอาเซียนเข้ามาแย่งชิงตลาด แนะรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีน คุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้ไทยยังคงเป็นเบอร์หนึ่ง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย และทุเรียนไทย “ปังหรือพัง” ใน 5 ปีข้างหน้า ว่า จากการศึกษาดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย (Durian Risk Index : DURI) ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์ทุเรียนไทย โดยใช้เกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย Zero Covid การขนส่ง ผลผลิตไทย ความสัมพันธ์ไทย-จีน คุณภาพทุเรียน ผลผลิตเพื่อนบ้าน การผูกขาดของพ่อค้าคนกลาง แรงงาน การสวมสิทธิทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพภูมิอากาศ พบว่าสถานการณ์ทุเรียนปี 2562-2563 ที่ผ่านมามีความเสี่ยงน้อย แต่อีก 5 ปี ข้างหน้า คือปี 2565-2569 มีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงสูง
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง มาจากพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย โดยในปี 2564 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 6 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปลูกทุเรียนแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลผลิตก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2554-2564 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70,703 ตันต่อปี แต่ปี 2565-2569 คาดว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 337,648 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงปี 2554-2564
สำหรับราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ประเมินว่า ในปี 2569 จะอยู่ที่ประมาณ 149 บาท/กิโลกรัม (กก.) และราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน เฉลี่ยในปี 2565-2569 ประมาณ 136 บาท/กก.
ขณะที่ผลผลิตทุเรียนโลกในช่วง 5 ปี (2565-2569) จะเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า ส่งออกทุเรียนโลกเพิ่ม 2.2 เท่า บริโภคในประเทศเพิ่ม 1.7 เท่า (เทียบปี 2564) โดยผลผลิตเพิ่มเฉลี่ย 612,276 ตันต่อปี การส่งออกเพิ่มเฉลี่ย 273,937 ตันต่อปี และปี 2569 ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกหลัก โดยส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 90.43% จากปี 2565 ขณะที่เวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้น 156.06% ตามผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนตันในปี 2569
ทางด้านสถานการณ์การผลิตทุเรียนของไทย 5 ปีข้างหน้า เพิ่ม 2.4 เท่า (2,904,697 ตัน ในปี 2569) ส่งออกเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า (1,905,584 ตัน ในปี 2569) บริโภคในประเทศเพิ่ม 3.3 เท่า (999,114 ตัน ในปี 2569) จากปี 2564 โดยปี 2565 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 24.6% ส่งออก 75.4% และในปี 2569 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 34.4% ส่งออก 65.6% ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เพิ่ม 44.9% อินโดนีเซีย เพิ่ม 28.9% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 44% เวียดนาม เพิ่ม 93.9% และอาเซียนอื่นๆ เพิ่ม 82.5% และส่วนใหญ่การส่งออกจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายอัทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณเงินสะพัดในตลาดทุเรียนไทยปี 2565 มีมูลค่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 6.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.6% โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ
ส่วนทุเรียนไทย 5 ปี ความท้าทายจะมาในรูปแบบ มี 3 ปัง 10 พัง โดย 3 ปัง คือ 1. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน 2. ผู้บริโภคจีนมีความต้องการสูง 3. คุณภาพทุเรียนดี ไม่มีทุเรียนอ่อน และ 10 พัง ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีปัญหา 2. คุณภาพของทุเรียนอ่อน แก่เกินไป 3. ทุเรียนจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน 4. สวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 5. การขนส่งมีปัญหา 6. ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง 7. สภาพภูมิอากาศ 8. ขาดแคลนแรงงาน 9. โรคระบาด 10. ผลผลิตไทยเพิ่มมากขึ้น
“มองว่าในอนาคต 5 ปีข้างหน้าการส่งออกทุเรียนไทยจะลดลง แม้จะไม่มาก แต่จะเสียส่วนแบ่งให้มาเลเซีย ที่มีสายพันธุ์ทุเรียนมูซานคิงส์ และเวียดนามที่จะเข้ามาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาด รวมถึงคู่แข่งจากตลาด CLMV ที่เริ่มเข้ามามากขึ้น หากไทยจะยังคงครองความเป็นผู้นำตลาด และสร้างความยั่งยืนในตลาดทุเรียนของไทย จะต้องรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีน ต้องมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยคุณภาพทุเรียน ต้องดี มีมาตรฐาน ทุเรียนไม่อ่อน จะทำให้อยู่ได้นานและยั่งยืน” นายอัทธ์กล่าว
ปัจจุบันรูปแบบการค้าทุเรียนไทย ประกอบด้วย 5 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรกรขายให้พ่อค้าคนกลาง ในประเทศไทย 15% เกษตรกรขายให้ล้งเพื่อส่งออกไปตลาดค้าส่งในประเทศจีน 50% เกษตรกรขายปลีกเองที่สวน ขายออนไลน์ และเปิดสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขายในประเทศ 5% เกษตรกรขายให้ล้งเพื่อส่งออกไปร้านค้าปลีกผลไม้พรีเมียมในจีน 10% และเกษตรกรเป็นผู้ค้าส่งและเป็นผู้ส่งออกไปจีนเอง 20%
ทางด้านต้นทุนการขนส่งทุเรียนไปจีนก่อนโควิด (ปี 2562) และปัจจุบัน (2565) พบว่าก่อนโควิดนิยมขนส่งทางบก 50% ทางเรือ 49% และทางอากาศ 1% แต่ปัจจุบันนิยมขนส่งทางเรือ 70% ทางบก 25% และทางอากาศ 5% ซึ่งการขนส่งทางบกก่อนโควิดต้นทุน 2.5 แสนบาท/ตู้ เส้นทางที่นิยม คือ R12 เนื่องจากระยะทางสั้น ประหยัดค่าขนส่ง แต่ปัจจุบันต้นทุน 8 แสนบาท/ตู้ เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง R3A เนื่องจากหลีกเลี่ยงมาตรการตรวจเข้มของจีน ขณะที่การขนส่งทางเรือก่อนโควิดต้นทุนค่าระวาง 35,000 บาท/ตู้ แต่ปัจจุบันต้นทุนค่าระวาง 60,000 บาท/ตู้ ส่วนการขนส่งทางอากาศก่อนโควิดต้นทุน 1 ล้านบาท/ตู้ แต่ปัจจุบันต้นทุน 1.8 ล้านบาท/ตู้