xs
xsm
sm
md
lg

“BEARHOUSE” ส่งชูการ์ฟรีไซรัป ดันเป้าขายสิ้นปีนี้ 180 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360-“BEARHOUSE” เครื่องดื่มชานมไข่มุกโมจิสุดปัง ของ 2 ยูทูบครีเอเตอร์ “ซารต์ & กานต์” จากช่อง BEARHUG เปิดตัวเมนูใหม่ “ชานมปั่น Sugar Free syrup” และ “ชาดำยูซุปั่น Sugar Free syrup” ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของตลาดชานมไข่มุกที่ยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ชูจุดต่าง ไซรัปสูตรชูการ์ฟรี ตั้งเป้าสิ้นปียอดขายพุ่ง 180 ล้านบาท

นางสาวปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช (ซารต์) ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด เจ้าของร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” เปิดเผยว่าที่มาของการคิดค้นไซรัปสูตรนี้ เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากจะให้ลูกค้าได้ทานของหวานหรือชานมได้บ่อยขึ้น ทานได้แบบมีความสุข จึงได้เริ่มนำเมนูสุดฮิตที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน มาปรับให้เข้ากับไซรัปสูตรชูการ์ฟรี พร้อมเปิดตัว 2 เมนูใหม่ “ชานมปั่น Sugar Free syrup” และ “ชาดำยูซุปั่น Sugar Free syrup”
 
โดยชูการ์ฟรีไซรัปนี้ เป็นสูตรใหม่ที่ได้มีการคิดค้น วิจัย และพัฒนา โดยใช้วัตถุดิบหลักจากหล่อฮังก้วย และส่วนผสมอื่น ๆ ปรุงขึ้นใหม่จนได้รสชาติความอร่อยใกล้เคียงกับไซรัปปกติมากจนแยกไม่ออก ซึ่ง ชูการ์ฟรีไซรัป สามารถสั่งเพิ่มได้ทุกเมนูในร้าน BEARHOUSE เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ โดยเมนูชานมปั่น ราคาเริ่มต้น 120 บาท ชาดำยูซุปั่น ราคาเริ่มต้น 140 บาท หากเป็นสูตร ชูการ์ฟรีไซรัป เพิ่ม 10 บาท


“BEARHOUSE นับเป็นร้านชานมวัยรุ่นแบรนด์แรก ๆ ที่พัฒนาสูตรชูการ์ฟรีไซรัปขึ้นมาเอาใจสาว ๆ ที่เป็นสาวกเครื่องดื่มของร้าน ที่อยากจะทานของหวานแต่ไม่อยากรู้สึกผิด และหันมาสนใจกระแสสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเราใช้เวลาเตรียมการและพัฒนาสูตรไซรัปนี้นานถึง 6 เดือน มีการปรับปรุงสูตร และพัฒนาต่อจนได้สูตรที่พึงพอใจจริง ๆ ผ่านการเทสต์กันในทีมจนมั่นใจแล้วจึงค่อยเปิดตัว นอกจากนี้เรายังปรับปรุงสูตรการชงใหม่หมดทั้งร้าน เพื่อให้ชูการ์ฟรีไซรัปนี้สามารถนำไปชงร่วมกับเมนูเครื่องดื่มอื่น ๆ ของร้านได้ และยังคงรสชาติความอร่อยได้เหมือนเดิม เพราะมิชชั่นของเราคือ การทำให้โลกน่าอยู่ด้วยของอร่อย จะรักสุขภาพแค่ไหน ถ้าไม่อร่อย ก็ทานบ่อย ๆ ไม่ได้” ซารต์ กล่าว


ซารต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวัตถุดิบและรสชาติที่เป็นซิกเนเจอร์ในแบบฉบับของตัวเอง ออกแบบรสชาติมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับประทานได้ทุกวัน ทำให้แบรนด์ BEARHOUSE ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และมีผลประกอบการที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยปี 2563 มียอดขาย 82 ล้านบาท และปี 2564 แม้จะเป็นปีที่โควิด-19 ระบาดหนักมากที่สุด BEARHOUSE สามารถทำยอดขายได้ 117 ล้านบาท โดยในปี 2565 จากแผนการขยายสาขา รวมถึงการขยายไลน์โปรดักส์ใหม่ ๆ คาดว่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านบาท

นอกจากนี้ BEARHOUSE ยังมีแผนจะออกเครื่องดื่มในรูปแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ทั้งชาใส เครื่องดื่มปั่น ท็อปปิ้งใหม่ ๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพและเพิ่มความหลากหลายของเมนูให้มากขึ้น


ด้าน นายอรรถกร รัตนารมย์ (กานต์) ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด กล่าวว่า ชานมไข่มุกเป็นตลาด ที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้น การมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทำให้เกิดสีสัน และจะยิ่งช่วยกันขับเคลื่อนตลาดให้เติบโตได้อีก ซึ่งจุดแข็งและความโดดเด่นที่แตกต่างของ BEARHOUSE คือ ลูกค้าที่เป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น ซึ่งมีทั้งกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาดที่ให้ความสำคัญกับการสร้าง Experience โดยรวมของร้าน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย มีการสร้างบรรยากาศด้วยเพลงที่เป็นเพลงของแบรนด์เอง และการออกแบบสร้างร้าน สร้างสเปซสำหรับนั่งรับประทานที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการเปิดสาขาใหม่

“เรามีจุดเริ่มต้นจากการเป็นยูทูบเบอร์ที่หลงใหลในอาหาร เพราะเราเดินทางไปหลากหลายสถานที่ เราจึงนำประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้ในการพัฒนา โดยวางจุดยืนแบรนด์ BEARHOUSE เป็นแบรนด์พรีเมียมแมส และเป็นตัวเลือกในระยะยาวของผู้บริโภค โดยปัจจุบันยอดขาย BEARHOUSE รวม 11 สาขา ซึ่งยังไม่รวมสาขาที่ 12 เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 4,500 แก้ว หรือเดือนละ 135,000 แก้ว” กานต์ กล่าว

“BEARHOUSE” ชานมไข่มุกสูตรซิกเนเจอร์พร้อมส่งมอบความอร่อยทั้ง 12 สาขา เดินทางง่ายใกล้ BTS ที่สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว สาขาเดอะมอลล์ท่าพระ สาขาสีลม สาขาอารีย์ สาขาสยาม และสาขาสะพานตากสิน ส่วน MRT ที่สาขาเอสพลานาดรัชดาภิเษก และสาขาเซ็นทรัลพระราม 9 โซนพัฒนาการ ศรีนครินทร์ บางนา ที่สาขาซีคอนสแควร์@ศรีนครินทร์ โซนมีนบุรี ที่สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ โซนรังสิต มีสาขาอยู่ที่ Zpell@Future Rangsit และล่าสุดคือสาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน นอกจากนี้ยังสามารถสั่งผ่าน Grab, LINE MAN, Airasia, Robinhood, Foodpanda และ Shopeefood






กำลังโหลดความคิดเห็น