xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นกลางอยู่ตรงไหน? 3 คำถาม กรณีตั้ง “หมอลี่” ประธานโฟกัสกรุ๊ป ควบรวม “ทรู-ดีแทค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการตั้งคำถาม “หมอลี่” ประเด็นจริยธรรมและความเป็นกลาง โฟกัสกรุ๊ป ด้านคุ้มครองผู้บริโภคฯ ลับ ลวง พราง? ล่าสุดทรูและดีแทคปฏิเสธการร่วมเวทีวันที่ 26 พ.ค. 65 แล้ว

แหล่งข่าวจากวงการวิจัยตั้งคำถามในการจัดโฟกัสกรุ๊ป กรณีด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง วันที่ 26 พ.ค. 65 เป็นการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้องตามกระบวนการวิจัยหรือไม่? และนับเป็นหนึ่งในสามการจัดโฟกัสกรุ๊ปตามโรดแมปของ กสทช. ที่กำหนดไว้ 3 ครั้ง ได้แก่
1) กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
2) กลุ่มนักวิชาการ
3) กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

แต่ปรากฏว่า การจัดโฟกัส กรุ๊ป วันที่ 26 พ.ค. 65 โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ทำให้เกิดคำถามต่อสังคมว่ารูปแบบที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น สามารถให้ผลที่น่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้มีการกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยขึ้นในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 เพื่อใช้เป็นแนวหลักเกณฑ์ควรประพฤติของนักวิจัยทั่วไป ไม่ว่าสาขาวิชาการใดๆ โดยให้มีลักษณะเป็นข้อพึงสังวรคุณธรรม และจริยธรรมในการทำงานวิจัย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และหลักวิชาการที่เหมาะสม

“...ข้อ 6 นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตน หรือความลำเอียงทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูล และข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย…”

จากหลักการดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสังเกตว่า

ประเด็นที่ 1) หลักแห่งความเป็นกลาง การที่บอร์ด กสทช.แต่งตั้ง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา (หรือ หมอลี่) ที่มีจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยในการควบรวมมาตลอด ซึ่งสามารถเห็นได้จากข้อมูลที่ประจักษ์ในสื่อ แต่กลับได้รับแต่งตั้งมาเป็นประธานการจัดโฟกัสกรุ๊ปกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จะนำมาซึ่งการขาดคุณสมบัติจริยธรรมการวิจัยหรือไม่? โดยผู้ที่มีความเหมาะสมควรเป็นผู้ที่มีอิสระทางความคิด มีความเป็นกลาง ปราศจากอคติ

ประเด็นที่ 2) หลักแห่งความยุติธรรมและจริยธรรมการวิจัย มีกระบวนการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างถูกต้องและยุติธรรม (กระจายกลุ่มตัวอย่าง / ประโยชน์ที่ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียงต่อกลุ่มใด) ทั้งนี้ หากสังเกตการจัดการวิจัยของนายประวิตร ลี่สถาพรวงศา มีความน่าเคลือบแคลงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้มีการจัดการสัมมนา เรื่องนโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และแสดงจุดยืนในงานว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม แต่กลับได้รับมอบหมายจาก กสทช.ให้เป็นประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และในวันถัดมาคือ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะเป็นประธานในการจัดการจัดโฟกัสกรุ๊ป อีกทั้งการคัดเลือกบุคคลหรือองค์กรที่เข้ามาให้ความคิดเห็นในสถานที่ของ กสทช.นั้นมีการเชิญค่ายมือถือเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เข้าข่ายผู้บริโภค มาร่วมกระบวนการที่ควรเปิดกว้างให้ผู้บริโภคตัวจริงมาเข้าร่วม อีกทั้งการใช้เวลาเฉพาะกับสื่อบางราย ที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นกรณีที่ระบุไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดคำถามว่า ขัดต่อหลักการยุติธรรมหรือไม่

ประเด็นที่ 3) หลักแห่งความชอบธรรม คณะอนุกรรมการมีอำนาจในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) และกระบวนการที่ดำเนินการเป็นไปตามหลักการวิจัยที่ถูกต้องได้รับการยอมรับหรือไม่?

ทั้งนี้ จริยธรรมงานวิจัยถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง หากปล่อยให้เกิดการดำเนินการโดยปราศจากการอ้างอิงหลักการด้านจริยธรรม งานวิจัยที่ถูกต้องก็ยากที่ผลลัพธ์จะถูกนำมาใช้ โดยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ การท้วงติงของสังคมจึงเป็นการตั้งคำถามเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดหาประโยชน์จากการทำงานวิจัยเพื่อเอื้อผลลัพธ์ที่ตนคาดหมายล่วงหน้า ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา ถึงการวางตัวเป็นกลางของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ยังคงเดินหน้าขึ้นเวทีแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ความน่าเชื่อถือของการดำเนินการของ กสทช. ที่ต้องเดินตามโรดแมปถูกตั้งคำถาม และทำให้คณะอนุกรรมการอื่นๆ ทำงานยากขึ้นตามไปด้วย

ล่าสุดแหล่งข่าวจาก กสทช.แจ้งว่าทรูและดีแทคได้ปฏิเสธ ไม่เข้าร่วมกระบวนการเข้าร่วมโฟกัส กรุ๊ป ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลมือง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค. 2565 แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น