xs
xsm
sm
md
lg

“กกพ.” หนุนโซลาร์ภาคประชาชนปีละ 10 เมกะวัตต์ เดินหน้าปี 65 ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.เดินตามมติ กพช. หนุนติดโซลาร์ภาคประชาชนปี 65 ต่อเนื่องรับเป้าหมายปีละ 10 เมกะวัตต์ตามมติ กพช. ไม่จำกัดเวลายื่นคำขอขายไฟฟ้าแต่เน้นกระบวนการพิจารณาคำขอขายตามเวลาที่กำหนด และผู้เสนอขายไฟฟ้าส่วนเกินจะต้องดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบระบบให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.
เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 สอดรับกำหนดเป้าหมายปีละ 10 เมกะวัตต์ สำหรับพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
 
“การประกาศครั้งนี้เป็นการดำเนินการโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในปี 2565 ต่อเนื่องจากการดำเนินการในปี 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ประกาศครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการโดยมีสาระสำคัญ ของประกาศดังนี้


(1) ไม่จำกัดเวลาการยื่นคำขอขายไฟฟ้า แต่ยังคงเน้นกระบวนการพิจารณาคำขอขายตามเวลาที่กำหนดและผู้เสนอขายไฟฟ้าส่วนเกินจะต้องดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบระบบให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และหากดำเนินการไม่ทันตามกำหนดให้ยื่นหนังสือถึงการไฟฟ้าฯ แจ้งความพร้อม เพื่อขอขยายเวลาได้อีก 90 วันก่อนยกเลิกสัญญา

(2) กรณีคำขอขายไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพิจารณาในปี 2564 ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแจ้งผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าดำเนินการ ต่อตามขั้นตอนตามประกาศฉบับนี้
(3) กรณีคำขอขายที่ผ่านการพิจารณาแล้วในปี 2564 และยังไม่ถูกยกเลิกให้การไฟฟ้าฯ แจ้งผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้ามาลงนามสัญญาภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง

การส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้าน ที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและสามารถนำส่วนที่เหลือมาขาย เข้าระบบได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวน และมีราคาสูงจากผลของภาวะวิกฤตการณ์ราคาพลังงานโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ด้วย” นายคมกฤชกล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอจำหน่ายไฟฟ้า ณ กฟน. และ กฟภ.ได้ทั่วประเทศตามพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น