“มท.1” สั่ง กฟภ. เตรียมแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” ของ อปท. จ่อตรวจสอบค่าใช้จ่ายงบลงทุน ส่ง “พลังงาน” หลัง กพช.ไฟเขียว “อัตรารับซื้อ” ปีนี้ 43 แห่ง พ่วงปีก่อน 19 แห่ง เร่งส่งข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เน้นค่าอุปกรณ์และเครื่องจักร พ่วงค่าจำกัดขยะของแต่ละ อปท.
วันนี้ (13 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการระหว่างการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนพฤษภาคม 2565)
โดยเฉพาะนโยบายการบริหารจัดการขยะ ว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้เสนอ “โครงการกำจัดขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมทุนกับเอกชน” จำนวน 34 โครงการ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว
“จะทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการได้ และขอให้จังหวัดแจ้ง อปท. เจ้าของโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. จัดส่งเล่มรายงานผลการศึกษา (Feasibility Study) รวมทั้งสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่เป็นปัจจุบัน”
ภายหลังเมื่อวันที่ 6 พ.ค. กพช.มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)
สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี
และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
เมื่อต้นปี กกพ. มีหนังสือขอให้จังหวัด แจ้ง อปท. เจ้าของ 19 โครงการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการของ อปท. เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FIT)”
การตรวจสอบมุ่งไปที่ “ค่าใช้จ่ายในการลงทุนของโครงการ” ทั้งรายละเอียดต้นทุน ประกอบด้วย
“ค่าอุปกรณ์และเครื่องจักร ระบบรับและป้อนขยะมูลฝอย ระบบเผาไหม้ ระบบผลิตพลังงาน ระบบควบคุมมลพิษ ระบบไฟฟ้า ระบบจัดการเถ้าหนักเถ้าเบา ระบบบ่อพักขยะ พักน้ำเสีย ระบบเชื้อเพลิงเสริม ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบ “สมมติฐานทางการเงินโรงไฟฟ้าขยะ อปท.” เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าจำกัดขยะ (บาท/ตัน) สัดส่วนหนี้/เงินลงทุน ระยะเวลาเงินกู้ อัตราเงินเฟ้อ ผลตอบแทนโครงการและผู้ลงทุน ฯลฯ
สำหรับโครงการ เมื่อต้นปี ประกอบด้วย โครงการกำจัดและแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าเทคบาลเมืองมหาสารคาม โครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยกระบวนการแปรรูปขยะเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เทศบาลตำลวัฒนานคร จ.สระแก้ว
โครงการแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าเทศบาลเมืองชุมพร โครงการจัดการขยะมูลฝอย อบจ.สงขลา โครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนโดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าเทศบาลนครยะลา
โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเทศบาลนครศรีธรรมราช โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF (สายป้อน PTS 424) เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ
โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF (สายป้อน BTR 416) เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ
โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF (สายป้อน BTR 426) เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากชุมชนเทศบาลเมืองบ้านพรุ จ.สงขลา โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร อบจ.ราชบุรี
โครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 เทศบาลนครนครราชสีมา โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDFและผลิตกระแสไฟฟ้า อบจ.เชียงใหม่
โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด อบต.เชียงหวาง จ.อุดรธานี โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปีดแบบ Waste to Energy (WTE) อบต.โชคชัย จ.นครราซสีมา
โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนโดยการแปรรูปเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแก๊สซิฟิเคชั่น เทศบาลเมืองสวรรคโลก จ.สุโขทัยโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า อบต.นากลาง จ.นครราชสีมา
โครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง ขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า อบต.หนองสาหร่าย จ.นครราชสีมา