“ส.อ.ท.” เปิด 5 ความท้าทายภาคการผลิตไทยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องพร้อมแผนการรับมือเร่งปักหมุดไปสู่อุตฯ 4.0 ผนึก สกพอ.หวังผุดนิคมฯ ความปลอดภัยของซัปพลายเชนเน้นห่วงโซ่ผลิตแบบครบวงจร ป้องวิกฤติฝขาดแคลน แสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ พร้อมดันการใช้พลังงานสะอาดรับมือกติกาลดโลกร้อน มั่นใจภาคอุตฯ จะไปต่อเพื่อขับเคลื่อน ศก.ไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” ในงาน Better Thailand Open Dialoque เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ว่า ความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ ส.อ.ท.ยังคงเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและดีกว่าที่ผ่านๆ มาได้อย่างแน่นอน โดย ส.อ.ท.ได้วางแนวทางที่จะขับเคลื่อนสมาชิก 45 กลุ่มอตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ในการรับมือกับความท้าทายใหญ่ 5 ด้าน
ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไปสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digital Disruption ซึ่งทุกภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ได้แม้ว่าจะไม่ง่ายนัก ดังนั้นส.อ.ท.จึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะส่งเสริมฯ การเปลี่ยนผ่านที่ภาพรวมเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ 2.0-2.5 ให้ขยับไปสู่ 3.0 และ 4.0 ในที่เป็นความท้าย
2. สงครามการค้า (เทรดวอร์) นับเป็นความท้าทายต่อมาที่เวลานั้นสหรัฐฯ และจีนเกิดขัดแย้งมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันส่งผลกระทบไทยในฐานะผู้ส่งออกและทั้ง 2 ตลาดล้วนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ แต่ที่สำคัญคือทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจากจีนจึงเป็นที่มาให้ ส.อ.ท.มุ่งเน้นดูแลความปลอดภัยของซัปพลายเชนหรือ Supply Chain Security โดยกำลังร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดตั้งนิคมฯ Supply Chain Security ในหลายๆอุตสาหกรรมอยู่
3. ความท้าทายต่อมา คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ทุกอย่างแทบจะหยุดกันหมด ส.อ.ท.จึงมุ่งเน้นให้ภาคการผลิตทำ Business Continuity Plan หรือ BCP ในการรับมือเพื่อไม่ให้กระบวนการผลิตหยุดชะงัก เช่น ระบบคัดกรอง จัดหาวัคซีน ฯลฯ ทำให้ส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อน ศก.ปี 2563 และต่อมาปี 2564 ส่งออกไทยโต 17.1% มีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกกลับมาโต 1.6% ไทยปี 2564
4. สงครามยูเครน-รัสเซีย นับเป็นความท้าทายที่เรากำลังเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบต่างๆ ราคาปรับขึ้น แต่วิกฤตก็มีโอกาส อีกหลายอุตสาหกรรมก็เป็นดาวรุ่ง เช่นอาหาร แม้ต้นทุนรวมจะสูงแต่กระแสโลกขาดแคลนอาหารทำให้เป็นโอกาสของไทย สิ่งที่ ส.อ.ท.ร่วมมือกับทุกฝ่ายทำคือการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ผูกราคาระยะยาว ปรับสูตรอาหารสัตว์ ที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น
5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งนับเป็นความท้าทายกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตไปสู่ Green Energy เพื่อรับกติกาการค้าใหม่ โดยเฉพาะจากฝั่งสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (CBAM) ซึ่ง ส.อ.ท.เองได้มีการตั้งสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมที่จะร่วมขับเคลื่อนพลังงานสะอาด และสภาจังหวัดในการปลูกป่าเพื่อนำมาสู่การซื้อขายเครดิตคาร์บอน เป็นต้น
“ไทยวางเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2065 เป็นอะไรที่ท้าทายแต่ด้วยศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยหากร่วมมือกันก็จะก้าวไปได้ และเชื่อว่าข้างหน้ายังมีอะไรท้าทายอีกเราต้องตื่นตัวตลอดเวลาในการรับมือ สมาชิกเราส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเราเองก็พยายามผลักดันไปสู่สมาร์ทเอสเอ็มอี มุ่งเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ BCG โมเดล เหล่านี้เราจึงเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว