xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ถก 11 พ.ค.ประเมิน ศก.รับเปิดประเทศ ผวาเงินเฟ้อพุ่งหลังต้นทุนผลิตขึ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” นัดหารือ 11 พ.ค.นี้ประเมินภาพรวม ศก.ไทยหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบมั่นใจส่งผลดีต่อภาพรวมแต่ยังคงกังวลปัจจัยเสี่ยงต้นทุนการผลิตพุ่งรอบด้านทั้งพลังงาน ราคาวัตถุดิบ ดันราคาสินค้าพาเหรดขึ้นราคาต่อเนื่องกดดันเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพประชาชนเพิ่มฉุดแรงซื้อตกต่ำ จับตา ดบ. -ค่าแรงขั้นต่ำอาจขยับซ้ำเติมต่ออีก แนะรัฐเร่งขับเคลื่อนแผนรับมือระยะสั้น กลาง และยาว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 11 พ.ค.นี้จะมีการหารือภาพรวมเศรษฐกิจ การส่งออก อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565 โดยยอมรับว่าขณะนี้เอกชนมีความกังวลต่อปัจจัยลบหลายด้านที่มีแนวโน้มจะกดดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งจะสะท้อนไปยังราคาสินค้าปรับขึ้นต่อเนื่องอันจะมีผลให้เงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นอีกซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของคนไทยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะรับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม

“เงินเฟ้อของไทย เม.ย.สูงถึง 4.65% ซึ่งมาจากค่าพลังงานและราคาอาหารที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงทรงตัวระดับสูงเนื่องจากมีข่าวสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมแบนน้ำมันรัสเซีย และหากประเมินการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนหลายฝ่ายต่างก็คาดว่าจะยืดเยื้อถึงปลายปีนี้หรือปีหน้าจึงทำให้มาตรการแซงก์ชันต่างๆ ยังคงอยู่ต่อไปและอาจมีเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดเราจึงกังวลว่าภาวะเช่นนี้จะยิ่งทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นซึ่งทำให้กำลังซื้อถดถอย” ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันของไทยมีทิศทางปรับขึ้นโดยเฉพาะดีเซลที่รัฐขยับเพดานมาอยู่ที่ 32 บาท/ลิตรเมื่อ 1 พ.ค.และกำหนดไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ซึ่งเพดานดังกล่าวทำให้ราคาจะปรับขึ้นอีกและยังไม่รวมกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาท/ลิตรเป็นเวลา 3 เดือนที่จะสิ้นสุด 20 พ.ค.จะหมดลงหากไม่ต่อจะทำให้ดีเซลขยับขึ้นอีก 3 บาท/ลิตร ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะขยายมาตรการดังกล่าวไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ขณะเดียวกันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 65 ได้ปรับขึ้นเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายถึง 4 บาท/หน่วย เหล่านี้ล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าพลังงาน

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ปรับขึ้นจากราคาน้ำมันและผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนทั้ง ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ เหล็ก แร่หายาก เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) พลาสติก และอื่นๆ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างมีต้นทุนที่ปรับตัวสูงทำให้ผู้ประกอบการต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าและมีแนวโน้มจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องหากสถานการณ์เหล่านี้ยังคงไม่ทุเลาลง อย่างไรก็ตามส.อ.ท.ได้ขอร้องให้สมาชิกพิจารณาตรึงราคาสินค้าให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อประคอง ศก.ไทยให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน เนื่องจากหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ 1 พ.ค.แล้วจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวค่อยๆ ดีขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว โดยหลายฝ่ายประเมินว่าจะมีเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามาจากมาตรการนี้ 5-6 แสนล้านบาท

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องจับตาเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ แล้วยังมีต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จากการประชุมเมื่อ 4 พ.ค. และอาจไม่มากพอสะกัดเงินเฟ้อทำให้เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ในการประชุมเดือนหน้านี้ทำให้ต้องจับตาท่าทีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยว่าที่สุดจะสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ 0.50% ตลอดทั้งปีตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ได้มากน้อยเพียงใด หากต้องขยับขึ้นตามก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินผู้ประกอบการเพิ่มสูงตามไปด้วย

“ระยะสั้นผลพวงดังกล่าวได้ทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเพราะเงินไหลกลับ แต่ตรงกันข้ามค่าเงินบาทไทยมีทิศทางอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 33-34 บาท/เหรียญสหรัฐและมีโอกาสเห็น 36 บาท/เหรียญสหรัฐเร็วๆ นี้ ซึ่งบาทแข็งค่าจะมีผลบวกต่อการส่งออก แต่ก็มีผลลบต่อการนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกันจึงต้องวางสมดุลให้ดี” นายเกรียงไกรกล่าว

ขณะเดียวกันยังคงต้องติดตามการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไรหลังมีการเรียกร้องจากสหภาพแรงงานต่างๆ เนื่องจากอัตราค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย โดยหากขยับขึ้นก็จะเป็นแรงกดดันต่อต่อต้นทุนการดำเนินงานของภาคการผลิตและธุรกิจต่างๆ อีกในอนาคต ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมุ่งเน้นบริหารงบประมาณและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อให้มากขึ้นในระยะสั้น รวมไปถึงการวางมาตรการระยะกลางและยาวที่ต้องมุ่งเน้นการสร้างงานทั้งการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาด้านการเกษตร และอื่นๆ ในท้องถิ่นที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนแบบยั่งยืน

“มาตรการด้านการเงินในการกระตุ้นกำลังซื้อเช่น คนละครึ่ง เหล่านี้ระยะสั้นจำเป็นต้องมี แต่ระยะกลางและยาวเราต้องมองความยั่งยืนด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชน” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น