xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจแรงงานปี 65 พบหนี้ครัวเรือนพุ่งถึง 99% สูงสุดรอบ 14 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจแรงงานไทยปี 65 พบมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นถึง 99% สูงสุดในรอบ 14 ปี และมีความกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ราคาสินค้า โควิด-19 การใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทน เรียกร้องรัฐบาลดูแลค่าครองชีพ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 ว่า แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมถึง 67.7% และ 32.3% มีเงินออมที่มาจากรายได้ ส่วนใหญ่ของแรงงานไม่มีอาชีพเสริม และจากการสำรวจเพิ่มเติม พบว่าแรงงานมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 99% ซึ่งสูงจาก 95% ในปี 2562 โดยการสร้างหนี้ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิตสูงที่สุด และนำเงินไปใช้เงินกู้ รองลงมาเป็นหนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ส่วนผลสำรวจทัศนะทั่วไปของแรงงานไทยในปัจจุบัน พบว่า แรงงานกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงาน โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล คือ ค่าครองชีพ ราคาสินค้า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การว่างงาน ส่วนการใช้จ่ายในวันแรงงาน 1 พ.ค. 2565 คาดว่า จะมีเงินสะพัดเพียง 1,525 ล้านบาท ลดลง 14.9% ทั้งนี้ แรงงานยังเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เหมาะสม มีความคาดหวังที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานในปัจจุบันมีหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ โดยผลสำรวจพบว่ามีหนี้เพิ่มขึ้น 99% หรือหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาท เพิ่มขึ้น 5.09% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมา ยกเว้นปีที่มีการล็อกดาวน์ที่ไม่มีการสำรวจ

ทั้งนี้ แรงงานไม่กังวลในเรื่องการตกงาน เพราะมองว่า เศรษฐกิจไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้ โดยปัจจุบันไทยมีการว่างงานเพียง 2% แต่สิ่งที่แรงงานกังวลมากสุด คือ ราคาสินค้า จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง

ทางด้านข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท เห็นว่ามีโอกาสการปรับขึ้นค่อยข้างยากเพราะเป็นการปรับขึ้นสูงมาก จากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท ถ้าจะปรับขึ้นหากจะมีการปรับขึ้นมองว่าควรจะปรับขึ้น 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อ หากปรับในอัตราสูง จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และจะเป็นการเร่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น และปลดแรงงาน

สำหรับการลอยตัวน้ำมันดีเซลที่จะเริ่ม 1 พ.ค. 2565 โดยปรับขึ้นแบบบันได หลังจากรัฐตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จะปรับขึ้น 32-35 บาทต่อลิตร ประเมินว่ามีผลต่อการชะลอตัวเศรษฐกิจ และต้นทุนราคาสินค้า


กำลังโหลดความคิดเห็น