ส.อ.ท.แนะรัฐขยายมาตรการลดภาษีฯดีเซล3บ./ลิตรต่ออีก3เดือนหลังสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้ หวั่นซ้ำเติมดีเซลที่ต้องขยับเพดาน 30 บาทต่อลิตร 1 พ.ค. หนุนพลังงานขึ้นเป็นขั้นบันได สกัดราคาสินค้าพาเหรดขึ้นราคา ผวาหนี้ครัวเรือนพุ่งฉุดแรงซื้อหด ขณะที่NPL ส่อเพิ่มหลังทยอยหมดเวลาพักชำระหนี้มิ.ย.นี้หวังรัฐเร่งดูแลระยะสั้นประคองศก.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางจากภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐควรพิจารณาขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาทต่อลิตรต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนจากเดิมที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบปรับลดเป็นเวลา 3 เดือนที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.นี้โดยรัฐสูญเสียรายได้รวม 1.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลต้องปรับตัวสูงขึ้นจนเกินไปเพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่จะถูกส่งผ่านมาในราคาสินค้าจากระดับค่าขนส่งที่จะแพงขึ้น
“ วันที่ 1 พ.ค.นี้รัฐได้กำหนดไว้ว่าจะลดการอุดหนุนดีเซลจากกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงโดยจะอุดหนุนเหลือ 50% ซึ่ง ณ วันที่ 22 เม.ย.กองทุนฯอุดหนุนดีเซลที่ลิตรละ 11.11 บาทต่อลิตรหากยังทรงตัวระดับนี้วันที่ 1 พ.ค.เท่ากับจะต้องขึ้นราคา 50% หรือราว 5 บาทกว่าต่อลิตรทำให้ดีเซลจากที่มีนโยบายตรึงไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรก็จะเป็น 35 บาทกว่าต่อลิตรแต่กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณว่าจะขึ้นเป็นขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบเช่น 2-3บาทต่อลิตรก็เห็นด้วย แต่อย่าลืมว่าพอถึง 20 พ.ค.ภาษีฯดีเซลจะหมดอายุหากไม่ต่อจะขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตรยิ่งไปกันใหญ่ประชาชนจะช็อคได้ผมเห็นว่าระยะสั้นนี้ต้องดูแลดีเซลไม่ให้ขึ้นแรงเกินไป”นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้หากดีเซลขยับราคาขึ้น 5 บาทต่อลิตรคาดว่าจะกระทบค่าขนส่งปรับขึ้นราว 15-20% และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% และทำให้เกิดการปรับราคาสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากหลายส่วนยังได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบต่างๆที่สูงขึ้นจากผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนซึ่งในช่วงนี้เริ่มเป็นสต็อกสินค้าใหม่ แต่จะขึ้นมากน้อยแค่ไหนอยู่แต่ละประเภทสินค้าว่าถูกควบคุมหรือไม่ และตลาดแรงซื้อรับได้มากน้อยเพียงใด แต่ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันตลาดโลกเองก็ยังอยู่ในภาวะผันผวนระดับสูงจากการสู้รบของรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรของแต่ละฝ่ายที่ออกมา
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อกำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยและปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากค่าพลังงาน และราคาอาหาร โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ได้เตือนว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นโดยมองว่าตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปีนี้จะพุ่งแตะระดับ 8.7% จึงชี้ให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อของไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นโดยสิ่งที่ส.อ.ท.กังวลคือหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงระดับ 90% ชี้ว่ารายรับไม่พอรายจ่ายซึ่งจะกดดันกำลังซื้อให้หดตัว ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ 6-12 เดือนนั้นก็จะทยอยหมดลงในมิ.ย.นี้จึงเห็นว่ารัฐควรหามาตรการในการดูแลระยะสั้นก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในระบบเพิ่มขึ้น
“หนี้ทั้งบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เริ่มเป็นหนี้เสียมากขึ้นเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ที่ล่าสุดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังระบาดอยู่เป็นอะไรที่น่ากังวลว่าจะเป็นระเบิดลูกใหม่ทางศก.ไทยได้ รัฐจึงต้องเร่งหามาตรการระยะสั้นดูแลเร่งด่วนในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจต่างๆ ให้ประคองอยู่ได้ก่อน”นายเกรียงไกรกล่าว