xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เม.ย.ต่ำสุดรอบ 5 เดือน หนุนรัฐตรึงดีเซล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.อยู่ระดับ 86.2 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากความกังวลต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาค่าพลังงาน ขนส่ง กำลังซื้อชะลอจากปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ชมรัฐหั่นภาษีฯ ดีเซล 5บาท/ลิตรหนุนพลังงานตรึงดีเซล 32 บาทต่อลิตรได้ดีสุด ห่วงเอสเอ็มอีไปต่อยาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมี.ค. และเป็นค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่ ธ.ค.  64 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานรวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง

นอกจากนี้ วันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้การผลิตลดลง ขณะที่ภาคส่งออกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินค้ากลุ่มโลหะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และ Space บนเรือไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกสินค้า รวมทั้งความล่าช้าของเรือขนส่งยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก อีกทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี แม้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออกก็ตาม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงินบาทที่อ่อนจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

"ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากภาครัฐลดการอุดหนุนราคาโดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึง 35 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม การยกเลิกระบบ Test & Go เพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป" นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ


1.) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งกรณีที่คลังได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 2 เดือนถือเป็นเรื่องเกินคาดหมายแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่สั้นไปก็ตามโดยหากเป็นไปได้ควรจะเป็น 4 เดือน ส่วนกรณีรัฐจะพิจารณาราคาดีเซลหากตรึงราคาไว้ระดับไม่เกิน 32 บาท/ลิตรได้จะยิ่งเป็นการดี

2.) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5
และขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

3.) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply
Chain Security) ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

4.) ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนเกินไปและให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อให้
สามารถแข่งขันได้

5.) ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วย
กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเปิดประเทศโดยการปลดล็อกให้เหมือนกับประเทศต่างๆ ที่เปิดการท่องเที่ยว ซึ่งหากทำได้ดีจะส่งผลให้ครึ่งปีหลังไทยจะมีนักท่องเที่ยว 8-10 ล้านคน จะมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงาน ฟื้นเศรษฐกิจและลดภาระการคลังของรัฐได้ด้วย

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ประสบปัญหาช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ล้มหายไปพอสมควร ที่เหลือขณะนี้ก็อยู่ในภาวะเปราะบางสูงเพราะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อต้นทุนสูง จึงเห็นว่ารัฐต้องเร่งอัดฉีดสภาพคล่องโดยเร็วหลังจากที่ปรับโหมดเปิดท่องเที่ยว รวมไปถึงการมีมาตรการกระตุ้น ศก.ให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อบ้าง เพราะช่วงที่ผ่านมาวิกฤตจะดูเหมือนว่าความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น