xs
xsm
sm
md
lg

80 ปี อก. “สุริยะ” ย้ำ BCG Model “ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรมไทยยุคใหม่ที่เติบโตยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ครบรอบ 80 ปี โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และพนักงานกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก. กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม จะก้าวเดินตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ช่วยส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บูรณาการการดำเนินงานหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย เป็นแนวทางการทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลกในปัจจุบันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยมีกรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาประเทศและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ และนโยบายระดับกระทรวง เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

“กระทรวงฯ ได้ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตมีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ด้วยการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยที่การส่งเสริม และการพัฒนาต้องสอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ จะก่อให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ มูลค่า และมาตรฐาน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลก”นายสุริยะ กล่าว

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เสริมว่า ในส่วนของแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ของกระทรวงฯ ยังคงมุ่งเน้นไปที่การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยเน้นไปที่งานวิจัย การต่อยอดงานวิจัย และการประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการสนับสนุนสร้างโอกาส และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model เป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเพื่อให้การบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาระบบและความสามารถของบุคลากรในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น