กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผนึกหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ ประกาศความพร้อมจัดงาน “THAIFEX-ANUGA ASIA” เตรียมเปิดเวทีเจรจาธุรกิจสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกแบบ On Ground และ Virtual 24-28 พ.ค.นี้
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ (KM) ประเทศเยอรมนี เตรียมจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดแห่งเอเชีย โดยจะเป็นเวทีการค้าระดับโลกให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้เจรจาธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ทางการตลาด ค้นหานวัตกรรม เทคโนโลยี และแรงบันดาลใจใหม่ เชื่อมต่อธุรกิจทั้ง On Ground Trade Show และ Virtual Trade Show ระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค. 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี และแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com
“ปีนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการและเดินทางระหว่างประเทศได้แล้ว ผู้จัดงานทั้ง 3 ฝ่ายจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะจัด THAIFEX-ANUGA ASIA ให้ยิ่งใหญ่ในรูปแบบ On Ground Trade Show เช่นเดิม แต่ยังคงการจัดงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริงควบคู่กัน เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่สะดวกเดินทาง”
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เมื่อทราบว่างาน THAIFEX-ANUGA ASIA ในปีนี้จะกลับมาจัดในรูปแบบ On Ground อีกครั้ง ต่างก็ให้การตอบรับเข้าร่วมงานเป็นอย่างดี โดยในฝั่งผู้นำเข้าที่ทางทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่งทั่วโลกได้เชิญเข้ามาร่วมงานนั้น ได้แจ้งยืนยันการเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ขณะเดียวกัน มีผู้ซื้อจากทางโคโลญเมสเซ ผู้จัดงานร่วม ได้เชิญให้เดินทางมาเยี่ยมชมงานอีกจำนวนมาก ทำให้มั่นใจว่างานนี้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และผลักดันอาหารไทยสู่เวทีโลก ตามนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อย่างแน่นอน
“คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานในรูปแบบ On Ground รวม 75,000 ราย ผู้เยี่ยมชมผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com มากกว่า 3,500 ราย และได้ตั้งเป้าว่างานนี้จะเกิดยอดเจรจาสั่งซื้อประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดสั่งซื้อจากการจัดงาน On Ground 9,550 ล้านบาท และยอดสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com เป็นมูลค่าสูงถึง 450 ล้านบาท” นายภูสิตกล่าว
สำหรับรูปแบบการจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” ในส่วนของ On Ground Trade Show จะมีสินค้ามาจัดแสดง 11 โซนสินค้า ประกอบด้วย สินค้าอาหารทุกประเภท อาหารทะเล อาหารแช่แข็ง เนื้อสัตว์ ข้าวและธัญพืช ผักและผลไม้ สินค้าอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ชาและกาแฟ เครื่องมือ/เครื่องใช้/อุปกรณ์ รวมถึงบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และยังมีโซนพิเศษสำหรับจัดแสดงสินค้าในกลุ่มฮาลาลและออร์แกนิก อาหารนวัตกรรม รวมถึงสินค้าอาหารจากส่วนภูมิภาคที่จังหวัดต่างๆ เลือกสรรมาเข้าร่วมงาน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น นิทรรศการประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้ภาคตะวันออกของไทย และกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ศักยภาพของไทย เช่น ทุเรียน มังคุด โดยจัดให้มีบริการสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) กับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง รวมทั้งกิจกรรมจัดแสดงสินค้าแห่งอนาคต (Future Food) ของผู้ประกอบการไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้นในตลาดโลก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA จะทำให้ผู้ประกอบการไทย ทั้ง SMEs รายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ได้นำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและสากล ได้พบปะกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพทั้ง On Ground และ Virtual รวมทั้งได้นำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ตามเทรนด์ความต้องการของโลก และเทรนด์อาหารยุคใหม่
นายแมธเธียส คูเปอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโลญเมสเซ จำกัด กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศและผู้นำเข้าสินค้า 815 ราย บนพื้นที่ 11,592 ตร.ม. ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับงานล่าสุดในปี 2563 และแม้จะมีกฎระเบียบด้านการเดินทางที่เข้มงวดสำหรับบางประเทศ แต่จำนวนผู้ร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นก็เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของงานนี้ที่ช่วยผลักดันการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาค โดยผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศและผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวมาจาก 35 ประเทศ กลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากเกาหลีใต้ รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม อิตาลี มาเลเซีย และตุรกี และขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรม Hosted Buyers อย่างคับคั่ง โดยบริษัทรายใหญ่ของโลก เช่น Dole Asia และ NTUC ก็ได้ยืนยันที่จะเข้าร่วมงานนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการจัดงานในรูปแบบปกติยังคงมีความสำคัญต่อธุรกิจ ในขณะที่ผู้แสดงสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานในพื้นที่จริง อาทิ จีน ก็ได้เข้าร่วมงานแบบเสมือนจริง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างต้องการเข้าร่วมงานนี้ และพวกเขาได้ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านการเดินทาง
“ในงานนี้มีเทรนด์ใหม่ที่โดดเด่น คือ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ตอบรับกระแสความยั่งยืน รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากพืช และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากอาหารสะอาด (Clean label) ซึ่งในปีนี้เราได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20% ของพื้นที่ทั้งหมด และเพื่อตอบสนองเทรนด์ด้านอาหารที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน เราจึงร่วมกับมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance : SOS) ซึ่งเป็นมูลนิธิกู้ชีพอาหาร ให้มาทำหน้าที่จัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเศษอาหารเหลือทิ้งจากการจัดงานครั้งนี้ โดยในช่วงท้ายของงาน มูลนิธิฯ จะรวบรวมอาหารส่วนเกินทั้งหมดจากผู้แสดงสินค้านำไปแจกจ่ายแก่ชุมชนที่มีรายได้น้อย สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และที่พักอาศัยต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางในสังคม”