ผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่นำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรตอบโต้ระหว่างกันกับชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมัน และห่วงโซ่การผลิต จนทำให้ค่าครองชีพของคนไทยไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่องเสมือนหนึ่งยังไม่เห็นยอดดอย เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปนานเพียงใด แต่ที่ชาวบ้านต้องทำใจหนีไม่พ้นราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า สินค้าอุปโภคและบริโภคต่างพาเหรดขึ้นราคาแซงหน้ารายได้ไปหลายขุม สะท้อนจากหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยที่หลายฝ่ายมองว่าอาจแตะระดับ 15 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่า 91% นับเป็นสิ่งที่น่าจับตาท่ามกลางหนี้สินนอกระบบของประชาชนที่สูงเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน
ภาวะดังกล่าวจึงไม่แปลกนักที่จะมีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐได้ทบทวนอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 ใหม่เพื่อให้สะท้อนกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหรืออัตราเงินเฟ้อ....แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาคงหนีไม่พ้นตัวเลขของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีให้ปรับขึ้นเป็น 492 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งทำให้แม้แต่บรรดานายจ้างตัวจริงเสียงจริงที่เป็นกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เองยังอึ้งว่ามาได้ไง.....
อย่างไรก็ตาม เมื่อเช็กจากทั้งฝ่ายรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง เสียงส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อสะท้อนกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยนั้นมีความจำเป็นด้วยเพราะค่าครองชีพที่สูงเช่นนี้ แต่ตัวเลข 492 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศเป็นไปได้ยาก ....เพราะจะยิ่งซ้ำเติมภาคธุรกิจที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน ดังนั้นแม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นความหวังของแรงงานไทย แต่หากมากไปอาจกลายเป็นหายนะเพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ ท้ายสุดลูกจ้างก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้เช่นกัน
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปี 2565 สะท้อนจากเสียงภาครัฐมาแน่นอน! ส่วนจะเท่าใดคงต้องไปรอลุ้นตัวเลขจากคณะอนุกรรมการค่าจังหวัดและ กทม.ที่คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงไม่เกิน ก.ค.นี้ก็น่าจะพอเห็นตัวเลขกันบ้างแล้ว จากนั้นก็จะส่งให้คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบที่คาดว่าจะเป็นช่วง ส.ค.-ก.ย.พิจารณาก่อนที่จะลงนามประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ....
อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงท่ามกลางปัจจัยต้นทุนต่างๆ ที่ถาโถมภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซียและยูเครน และเงินเฟ้อที่ลุกลามทั่วโลก ทำให้สภาพของธุรกิจไทยมีทั้งคนที่เข้มแข็งและอ่อนแอศักยภาพการรับภาระต้นทุนย่อมต่างกันไป....ลองมาฟังเหตุและผลที่เป็นข้อเท็จจริงจากนายจ้างตัวจริงดู!..
“ไตรภาคี” ชี้ขาดการเมืองต้องไม่แทรกแซง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาวะค่าครองชีพแพงแน่นอนว่าสภาองค์การนายจ้างฯ เราไม่ได้คัดค้านหากจะมีการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การพิจารณาขอให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จะพิจารณาอัตราในแต่ละพื้นที่ก่อนที่จะเสนอมายังคณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบด้วยผู้แทนไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐเป็นผู้เห็นชอบเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามประกาศต่อไป ซึ่งประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะใช้จริงได้ในเดือนกันยายนนี้
"หลักการในการขึ้นค่าจ้างจะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ซึ่งปี 2565 หลายฝ่ายประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะอยู่ที่เฉลี่ย 5% กรณีกรุงเทพฯขณะนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระดับ 331 บาท/วันก็จะขึ้นประมาณ 16 บาท/วันหรือประมาณ 500 บาท/เดือน หรือหากมองภาพรวมขึ้นราว 5-10 บาท/วัน แบบนี้ก็คิดว่าเอกชนรับได้" นายธนิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาค่าจ้างยังต้องคำนึงถึงศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพแรงงาน เหล่านี้ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละพื้นที่ค่าครองชีพย่อมไม่เท่ากันการปรับขึ้นจึงต้องต่างกันไป ดังนั้นตัวเลขที่มีการเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากดำเนินการจริงค่าจ้างเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ระหว่าง 313-316 บาท/วันจะขึ้นแบบก้าวกระโดด
ตัวอย่าง กทม.และปริมณฑลเฉลี่ย 331 บาท/วัน หากขึ้นไปสู่ระดับ 492 บาท/วันเท่ากับปรับอีก 161 บาท/วันจะผลักดันให้ขึ้นไปใกล้เคียงกับอัตราจ้างงานระดับปริญญาตรี 15,000 บาท อัตราจ้างงานระดับ ปวส. 11,500 บาท รวมถึงระดับ ปวช.อัตราจ้างงาน 9,400 บาท และแรงานที่ทำงานมาก่อนหน้าต้องทำให้การปรับขึ้นต้องทำทั้งโครงสร้าง ซึ่งจะรวมทั้งรัฐวิสาหกิจและราชการอีกด้วยซึ่งจะทำให้พังกันทั้งระบบแน่นอนเพราะที่สุดจะทำให้ราคาสินค้ายิ่งปรับเพิ่มมากขึ้นภาคธุรกิจที่เปราะบางจะไปต่อไม่ได้
“ความกังวลคือมีการส่งสัญญาณว่าอาจมีการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆ อาจนำนโยบายประชานิยมค่าแรงสูงเป็นจุดขาย ที่ผ่านมาก็มีบทเรียนให้เห็นกันอยู่แล้ว วันนี้ ศก.ไทยอยู่ในภาวะเปราะบางการแก้ไขปัญหาประเทศที่มีความซับซ้อนอย่าใช้วิธีง่ายๆ อย่าใช้ประชานิยมด้วยการปรับค่าจ้างสูงๆ เพียงเพื่อให้ได้เข้ามาเป็น ส.ส.หรือจัดตั้งรัฐบาลแต่ผลข้างเคียงจะทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงที่จะทรุดตัว” นายธนิตกล่าว
กกร.ไม่ค้านขึ้นค่าแรงแต่อย่าแพงเกินไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือน พ.ค.ได้มีการหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งทุกส่วนเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อให้สะท้อนกับรายจ่ายของแรงงานในภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูง แต่การพิจารณาขอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน
“การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงานในแต่ละจังหวัดนั้นๆ เพราะแต่ละพื้นที่ค่าครองชีพต่างกัน ซึ่งหากมีการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองจนทำให้สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้น และที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการปรับราคาสินค้าตามมาได้” นายเกรียงไกรกล่าว
ห่วงเอสเอ็มอีอาจไปต่อไม่ได้
ทั้งนี้ ค่าจ้างควรจะค่อยๆ ขยับสะท้อนเงินเฟ้อเพราะหากสูงเกินไปสิ่งที่น่ากังวลคือธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะที่เน้นพึ่งพิงตลาดในประเทศจะไปต่อได้ยากซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องแบกภาระไว้อย่างมากจากผลกระทบโควิด-19 และต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้นจากผลกระทบการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการรวมถึงการผลิตที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ซึ่งการที่รัฐบาลได้เปิดประเทศ 1 พ.ค.จะทำให้ค่อยๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่หากการขึ้นค่าแรงที่สูงเกินไปอาจจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งได้
สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกเองภาพรวมมีศักยภาพพอที่จะรับภาระต้นทุนได้ดีกว่าธุรกิจที่พึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสามารถส่งผ่านไปยังราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ดีกว่า ประกอบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วง 2 ปีมานี้ภาคส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น อุปกรณ์การแพทย์ ยา ฯลฯ จึงทำให้ภาพรวมมีกำไร ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีในแง่รายได้ที่สะท้อนกลับมาเป็นเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น
ค่าจ้างสูงก้าวกระโดดยิ่งกดดันราคาสินค้าเพิ่ม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า แรงงานมีรายจ่ายที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็จะต้องสะท้อนเงินเฟ้อตามด้วยเพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เท่าเดิมที่จะส่งต่อไปยังการบริโภคเพื่อไปหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ แต่การปรับขึ้นจำเป็นต้องพิจารณาวางสมดุลระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างที่ต้องไปได้ด้วยกันทั้งหมด ประกอบกับค่าแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตหากสูงแบบก้าวกระโดดก็จะยิ่งไปกดดันให้ระดับราคาสินค้าภาพรวมเพิ่มขึ้นตามมาอีก
“ขณะนี้ต้นทุนการผลิตหลายอย่างปรับขึ้นทั้งจากราคาพลังงาน ค่าวัตถุดิบต่างๆ เพราะผลกระทบจากรัสเซีย-ยูเครน และในแง่ของค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของต้นทุนการผลิตเช่นกัน ดังนั้นตัวเลข 492 บาท/วันเป็นไปได้ยากเพราะจะกระทบเอสเอ็มอีไปต่อไม่ได้เพราะต้นทุนเวลานี้มีรอบด้าน แต่การปรับราคาสินค้าของผู้ผลิตที่เน้นตลาดในประเทศเองไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะขึ้นแล้วอาจจะทำให้คนซื้อลดลงเช่นกัน” นายวิศิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ หากกิจการใดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานทั้งการยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) ได้ก็สามารถชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มได้อย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ขณะที่เอสเอ็มอียังไม่มีแนวทางดังกล่าวนักด้วยข้อจำกัดหลายๆด้าน ดังนั้น การที่ภาครัฐมุ่งเน้นการปรับค่าแรงที่สะท้อนตามมาตรฐานฝืมือแรงงานหรือคุณวุฒิวิชาชีพให้มากขึ้นถือว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว
นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการผลิตรายใหญ่ กลาง มีการปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเพราะแรงงานไทยเริ่มลดต่ำลงจากจำนวนประชากรการเกิดใหม่ที่น้อยลงในทุกๆ ปีทำให้สัดส่วนแรงงานที่จะเข้าระบบเริ่มลดต่ำต่อเนื่อง ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานไร้ทักษะคนไทยไม่เข้าสู่ระบบเนื่องจากการศึกษาเฉลี่ยคนไทยจบปริญญาตรีเป็นส่วนมาก ทำให้ต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาแรงงานไทยจึงไม่ใช่เพียงแก้ไขอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม หากต้องแก้ไขทั้งโครงสร้าง
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากเอกชนครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความตั้งใจที่พร้อมสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในการทำให้ลูกจ้างมีรายได้ที่เพียงพอรายจ่ายในยุคข้าวยากหมากแพง ....แต่กระนั้นขอให้เป็นอำนาจของ "ไตรภาคี" เชื่อว่าขณะนี้การรวบรวมข้อมูลกำลังงวดเข้ามาหาก "การเมือง" ไม่สะดุดเสียก่อนคงเห็นการปรับขึ้นในช่วง ก.ย.นี้